การลีลาศ
ความหมาย และประวัติความเป็นมาของกีฬาลีลาศ
คำว่า “ลีลาศ” หรือ “เต้นรำ” มีความหมายเหมือนกัน พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานปีพุทธศักราช 2525 ได้ให้ความหมายดังนี้
ลีลาศ เป็นนามแปลว่า ท่าทางอันงดงาม การเยื้องกราย เป็นกิริยาแปลว่า เยื้องกรายเดิน นวยนาด
เต้นรำ เป็นกิริยาแปลว่า เคลื่อนที่ไปโดยมีระยะก้าวตามกำหนด ให้เข้ากับจังหวะดนตรี ซึ่งเรียกว่า ลีลาศ โดยปกติเต้นเป็นคู่ชายหญิง
คนไทยนิยมเรียกการลีลาศว่า “เต้นรำ” มานานแล้ว คำว่าลีลาศตรงกับภาษาอังกฤษว่า
“Ballroom Dancing” หมายถึง การเต้นรำของคู่ชายหญิงตามจังหวะดนตรีที่มีแบบอย่างและลวดลายการเต้นเฉพาะตัว โดยมีระเบียบของการชุมนุม ณ สถานที่อันจัดไว้ในสังคม ใช้ในงานราตรีสโมสรต่าง ๆ และมิใช่การแสดงเพื่อให้คนดู
นอกจากนี้ยังมีคำอีกคำหนึ่งที่มักจะได้ยินกันอยู่เสมอคือคำว่า “Social Dance” ส่วนใหญ่มักจะนำมาใช้ในความหมายเดียวกันกับคำว่า Ballroom Dancing แต่ในประเทศสหรัฐอเมริกาคำว่า Social Dance หมายถึง การเต้นรำทุกประเภทที่จัดขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้คนมาอยู่ร่วมกัน และได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมการเต้นรำเป็นหมู่คณะ เพื่อให้ได้ความสนุกสานเพลิดเพลิน จึงกล่าวได้ว่า Ballroom Dancing เป็นส่วนหนึ่งของ Social Dance
อาจสรุปได้ว่า “ลีลาศ” คือ กิจกรรมเข้าจังหวะประเภทหนึ่ง เป็นการเต้นรำที่แสดงออกอย่างมีศิลปะ โดยใช้เสียงเพลงและจังหวะดนตรีเป็นสื่อ เพื่อให้เกิดความสนุกสนามเพลิดเพลิน มีลวดลายการเต้น (Figure) เป็นแบบเฉพาะตัว และมักนำลีลาศมาใช้ในงานสังคมทั่ว ๆ ไป
ทักษะพื้นฐาน และวิธีการเล่นกีฬาลีลาศ
3.1 ทักษะพื้นฐานในการเล่นกีฬาลีลาศ
ในการฝึกลีลาศ จะต้องคำนึงถึงทักษะเบื้องต้นของการลีลาศเป็นอันดับแรก และจะต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง ฝึกหัดจนเกิดความชำนาญ หากละเลยถึงหลักและทักษะเบื้องต้นจะทำให้ผู้ฝึกลีลาศขาดความก้าวหน้า และไม่มีศิลปะของการลีลาศอย่างแท้จริง ทักษะเบื้องต้นของการฝึกลีลาศเพื่อให้เกิดความชำนาญ มีดังนี้
1. องค์ประกอบสำคัญในการลีลาศ
องค์ประกอบที่สำคัญในการลีลาศได้แก่ ความรู้ในเรื่องจังหวะของดนตรี ซึ่งถือว่ามีความสำคัญมากสำหรับผู้ฝึกหัดลีลาศใหม่ๆ ถ้าไม่สามารถเข้าใจจังหวะดนตรี หรือฟังจังหวะดนตรีไม่ออกจะทำให้การฝึกลีลาศเป็นไปด้วยความยากลำบาก นอกจากนี้ยังทำให้ไม่สามารถลีลาศไปตามจังหวะได้ ซึ่งนักลีลาศเรียกกันว่า “ค่อมจังหวะ”
ดนตรี (Music) มีความสำคัญมากในการลีลาศ เพราะเป็นเครื่องกำหนดการให้จังหวะ ซึ่งจะมีเสียงหนัก เสียงเบา มีวรรคตอน มีความเร็วช้าของช่วงจังหวะของเพลงที่แน่นอน ถ้าจังหวะดนตรีไม่ดีการลีลาศก็ไม่ดีตามไปด้วย จังหวะดนตรีนั้นเปรียบเสมือนเป็นหัวใจสำคัญของเพลง
2. โครงสร้างของดนตรี
1) จังหวะ (beat) หมายถึง เสียงที่เกิดขึ้นและตกบนตัวโน้ตทุกตัว หรือหมู่ของเสียงที่ทำให้เกิดจังหวะขึ้นในห้องเพลง โดยปกติจะตกบนตัวโน้ตตัวแรกของห้องเพลง เช่น จังหวะ 2/4 จังหวะ 3/4 หรือจังหวะ 4/4
2) เสียงเน้น (Accent) หมายถึง เสียงที่เคาะลงบนจังหวะ จะได้ยินชัดเจนมากกว่าเสียงเคาะในห้องเพลง โดยปกติจะตกบนตัวโน้ตตัวแรกของห้องเพลง
3) ห้องเพลง (bar) หมายถึง กลุ่มของจังหวะที่ประกอบกันขึ้นเป็นช่วงหรือตอน ปกติจะอยู่ระหว่างเสียงเน้นเสียงหนึ่งกับเสียงเน้นอีกเสียงหนึ่ง
4) ความเร็ว (Tempo) หมายถึง อัตราความเร็วของดนตรีที่บรรเลงโดยใช้เวลาเป็นตัวกำหนด เช่น ใน 1 นาทีจะบรรเลงกี่ห้องเพลง
การหัดฟังจังหวะดนตรีควรเลือกฟังจากดนตรีที่มีเสียงชัดเจน ฟังง่าย ถ้าเป็นดนตรีจังหวะ 2/4 จะได้ยินเสียงเคาะลงบนจังหวะ 2 จังหวะใน 1 ห้องเพลง เสียงที่ได้ยินแต่ละครั้งใน 1 ห้องเพลงนั้น จะมีเสียงหนึ่งเป็นเสียงหนักและอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงเบาต่อเนื่องกันไปทุก ๆ ห้องเพลง การฝึกนับจังหวะจะนับ 1 – 2, 1 – 2, 1 – 2 ไปเรื่อย ๆ จนจบเพลง
3. ทิศทางในการลีลาศ
เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า ทิศทางทวนเข็มนาฬิกา (Counter Clockwise) เป็นทิศทางของการลีลาศซึ่งถือเป็นสากล ดังนั้นในการลีลาศจะต้องลีลาศไปในทิศทางทวนเข็มนาฬิกา ทั้งนี้เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย ทั้งเป็นการป้องกันมิให้ลีลาศไปชนกับคู่อื่น ทิศทางนี้เรียกว่า “แนวลีลาศ” (Line of Dance) ซึ่งนิยมเรียกกันด้วยคำย่อว่า L.O.D.
การลีลาศในแต่ละจังหวะหรือแต่ละลวดลาย (Figure) มีการเริ่มต้นและสิ้นสุดในทิศทางที่แตกต่างกัน ผู้ฝึกลีลาศจึงควรทำความเข้าใจ เกี่ยวกับทิศทางการเคลื่อนที่ในการลีลาศให้ถูกต้องเสียก่อนจะทำให้สามารถฝึกลีลาศได้อย่างรวดเร็วและถูกต้องตามเทคนิคของการลีลาศ ตำแหน่งการยืนในการลีลาศ (Position of Stand) จะสัมพันธ์กับทิศทางที่ผู้ลีลาศหันหน้าไปในทิศทางต่าง ๆ ซึ่งมีอยู่ 8 ทิศทาง การเรียกชื่อตำแหน่งที่ยืนจะเรียกตามทิศทางที่หันหน้าไป ดังนี้
1. ยืนหันหน้าตามแนวลีลาศ (Facing Line of Dance)
2. ยืนหันหน้าย้อนแนวลีลาศ (Facing Against Line of Dance)
3. ยืนหันหน้าเข้ากลางห้องหรือกลางฟลอร์ (Facing Centre)
4. ยืนหันหน้าเข้าฝาห้อง (Facing Wall)
5. ยืนหันหน้าเฉียงกลางห้องตามแนวลีลาศ (Facing Diagonally of Centre)
6. ยืนหันหน้าเฉียงฝาตามแนวลีลาศ (Facing Diagonally of Wall)
7. ยืนหันหน้าเฉียงฝาย้อนแนวลีลาศ (Facing Diagonally of Wall Against Line of Dance)
8. ยืนหันหน้าเฉียงกลางห้องย้อนแนวลีลาศ (Facing Diagonally of Centre Against Line of Dance)
การจัดทิศทาง (Alignment) มีส่วนสัมพันธ์กับทิศทางในการลีลาศ เป็นส่วนที่อธิบายถึงทิศทางในการลีลาศให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เนื่องจากทิศทางการลีลาศจะบอกเพียงว่า คู่ลีลาศจะเคลื่อนที่ไปทางไหน จึงต้องมีการอธิบายถึงการจัดทิศทาง เพื่อให้เกิดการปฏิบัติเป็นรูปแบบมาตรฐานเดียวกัน โดยจะใช้คำอยู่ 3 คำในการจัดทิศทางคือ หันหน้า (Facing) หันหลัง (backing) และชี้เท้า (Pointing) โดยการหันหน้าหรือหันหลังจะระบุอย่างชัดเจนว่า หันหน้าเข้าฝาห้อง หันหลังเฉียงฝาย้อนแนวลีลาศ เป็นต้น ส่วนการชี้เท้าจะใช้เมื่อก้าวเท้าเดินไปทางด้านข้าง หรือการก้าวเท้าชี้ไปนอกทิศทางที่หันหน้าอยู่ในขณะอย่างถูกต้อง
การเคลื่อนไหวเท้า (Foot Work) หมายถึง การใช้ส่วนของเท้าสัมผัสกับพื้นในแต่ละก้าว (Step) การเคลื่อนไหวเท้ามีประโยชน์ที่จะนำมาปฏิบัติเป็นความรู้เบื้องต้น เกี่ยวกับการวางเท้าให้ถูกต้องในแต่ละก้าว คำที่ใช้เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวเท้า มีดังนี้
1. ส้นเท้า (Hell) หมายถึง ให้ส่วนของส้นเท้าสัมผัสพื้นก่อน
2. ปลายเท้า (Toe) หมายถึง ให้ส่วนของโคนนิ้วเท้าถึงปลายนิ้วเท้าสัมผัสพื้นก่อน
3. จุดหมุนของเท้า (ball of Foot) หมายถึง ให้ส่วนของฝ่าเท้าถึงโคนนิ้วเท้าสัมผัสพื้นก่อน
4. ฝ่าเท้า (Whole Foot) หมายถึง ให้ทุกส่วนของเท้าสัมผัสพื้นก่อน
4. การฝึกเดินในการลีลาศ (General Outline of The Walk)
มีคำพูดว่า “ถ้าท่านเดินได้ ท่านก็สามารถลีลาศได้” คำพูดนี้คงจะไม่เป็นความจริงนัก เพราะท่าทางการเดินทั่ว ๆ ไปกับการเดินในการลีลาศนั้นไม่เหมือนกัน เพียงแต่มีความสัมพันธ์กันเท่านั้น กล่าวคือ การเดินในการลีลาศ มีการเคลื่อนไหวเท้าทั้งสองข้างติดต่อกันไปบนฟลอร์ลีลาศ ตามลวดลาย (Figure) ของแต่ละจังหวะ ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า “คนที่เดินได้ สามารถเรียนรู้และฝึกลีลาศได้” การเดินในการลีลาศแตกต่างไปจากการเดินธรรมดา คือ ขณะเดินไม่ว่าจะก้าวเท้าไปข้างหน้าหรือถอยหลังก็ตาม ปลายเท้าจะชี้ตรงไปข้างหน้าเสมอ เท้าทั้งสองข้างลากผ่านกันจนเกือบสัมผัสกัน และถ่ายน้ำหนักตัวไปยังเท้าที่ก้าวไปใหม่เสมอ ดังนั้น ท่าทางการเดินจึงนับว่าเป็นพื้นฐานสำคัญในการลีลาศที่ผู้ฝึกลีลาศใหม่ ๆ ควรให้ความสนใจ และฝึกฝนให้ถูกต้องเสียก่อน
การจัดทรวดทรงหรือการวางลำตัวที่ดี เป็นบุคลิกภาพที่มีคุณค่าต่อการลีลาศ เพราะทำให้ดูแล้วสง่างามน่ามอง การที่ลีลาศได้แต่ไม่สวยงาม อาจเนื่องมาจากการละเลยหรือไม่ให้ความสนใจในการจัดทรวดทรงของตนเอง เช่น เข่างอ ไหล่ห่อ ท้องยื่น เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ทรวดทรงของบุคคลนั้นอยู่ในลักษณะที่ห่อเหี่ยว ดูเฉื่อยชา ไม่กระฉับกระเฉง หรือมองดูคล้ายกับคนเหนื่อยอ่อน ดังนั้นผู้ที่มีทรวดทรงไม่ดีไม่สง่างาม จะต้องปรับปรุงแก้ไขด้วยการฝึกฝนตนเองบ่อย ๆ ดังนี้
การเดินไปข้างหน้าของผู้ชาย (The Forward Walk Gentlemen)
การจัดทรวดทรง : ยืนตัวตรงหย่อนเข่าเล็กน้อยแต่ไม่ถึงกับย่อเข่า ลำตัวตั้งแต่เท้าถึงศรีษะเอนไปข้างหน้าจนรู้สึกว่าน้ำหนักตัวอยู่ที่ปลายเท้า แต่ส้นเท้าไม่ลอยพ้นพื้น ในการเอนลำตัวไปข้างหน้านั้น พยายามรักษาลำตัวตั้งแต่สะโพกขึ้นไปให้อยู่ในลักษณะตั้งตรง เมื่ออยู่ในท่าลักษณะดังกล่าวแสดงว่าพร้อมที่จะก้าวเดิน
การเคลื่อนไหวขาและเท้า : โดยทั่วไปนิยมให้ผู้ชายเริ่มต้นก้าวเท้าเดินด้วยเท้าซ้ายก่อนในการเริ่มต้น จะเริ่มด้วยการให้น้ำหนักตัวอยู่ที่เท้าขาว แล้วก้าวเท้าซ้ายโดยเคลื่อนจากสะโพกไป ข้างหน้า ขณะที่เท้าซ้ายผ่านปลายเท้าขวา ส้นเท้าขวาจะเริ่มยกขึ้นพ้นพื้น และเมื่อก้าวเท้าซ้ายออกไปเต็มที่แล้ว ส้นเท้าซ้ายและปลายเท้าขวาจะสัมผัสพื้นพร้อมกัน ให้วางปลายเท้าซ้ายราบลงกับพื้นทันทีในขณะที่ลำตัวยังคงเคลื่อนที่ไปข้างหน้า ถ่ายน้ำหนักตัวลงบนเท้าซ้าย
การก้าวเท้าขวาไปข้างหน้า ให้ลากปลายเท้าไปกับพื้นและเคลื่อนผ่านเท้าซ้ายเช่นเดียวกับการก้าวเท้าเดินด้วยเท้าซ้าย การถ่ายน้ำหนักตัวขณะก้าวเท้าเดินจากตำแหน่งที่อยู่กับที่ น้ำหนักตัวส่วนใหญ่จะอยู่บนปลายเท้าก่อนที่จะเริ่มก้าวเท้าออกไป ขณะกำลังก้าวเท้าเดิน น้ำหนักตัวจะอยู่บนเท้าที่ไม่ได้ก้าว และเมื่อก้าวเท้าเกินออกไปเต็มที่แล้ว น้ำหนักตัวจะถูกแบ่งอยู่ระหว่างส้นเท้าหน้ากับปลายเท้าหลัง แล้วค่อย ๆ ถ่ายน้ำหนักตัวไปที่เท้าหน้า เมื่อวางเท้าหน้าลงเต็มเท้าน้ำหนักตัวทั้งหมดจะมาอยู่บนเท้าหน้าทันที
ข้อควรระวัง : จากลักษณะท่ายืนอยู่กับที่ จะรู้สึกว่าลำตัวเคลื่อนไปข้างหน้าก่อนเท้า แต่ถ้าเท้าเคลื่อนที่ไปข้างหน้าก่อนลำตัว น้ำหนักตัวจะถูกส่งไปข้างหลังมากเกินไป ตลอดเวลาที่กำลังเดินอยู่ปล่อยเข่าให้สบายและหย่อนเข่าตามธรรมชาติ ขาจะตรงเมื่อก้าวเท้าไปเต็มที่แล้วแต่ไม่เกร็งเข่า
การเดินถอยหลังของผู้หญิง (The backward Walk Lady)
การจัดทรวดทรง : ยืนตัวตรงปล่อยเข่าตามสบายแต่อย่าให้งอ วางลำตัวเอนไปข้างหลังเล็กน้อยจนน้ำหนักตัวอยู่บนส้นเท้าทั้งสองข้าง การทำเช่นนี้จะไม่ช่วยในการทรงตัวแต่ทำให้มองดูแล้วสง่างาม พยายามอย่าเอนลำตัวไปข้างหลังมากเกินไป เพราะจะทำให้เกิดส่วนโค้งที่ไม่สวยงามของหลังขึ้น
ถึงแม้ว่าผู้หญิงจะเอนลำตัวไปข้างหลัง แต่ก็ต้องออกแรงต้านการเคลื่อนที่ไปข้างหน้าของผู้ชายไว้บ้างเล็กน้อย ซึ่งไม่ใช่แรงต้านทั้งตัวแต่จะใช้ส่วนล่างของร่างกายตรงสะโพก มิฉะนั้น จะเป็นการขัดขวางการเคลื่อนที่ไปข้างหน้าของผู้ชาย และทำให้ยากต่อการก้าวเท้าออกนอกคู่ (Outside Partner) ผู้หญิงไม่ควรเอนลำตัวมาข้างหน้า หรือทิ้งน้ำหนักตัวมาข้างหน้าในขณะที่กำลังเดินถอยหลัง เพราะจะทำให้ผู้ชายมีแรงต้านบริเวณหน้าอก และรู้สึกลำบากในการนำผู้หญิง ทั้งยังทำให้ผู้ชายรู้สึกว่าผู้หญิงตัวหนักอีกด้วย
การจัดทรวดทรงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก แต่ถ้าได้พยายามฝึกการควบคุมการใช้กล้ามเนื้อขาทั้งสองข้างให้สามารถลดส้นเท้าลงเมื่อเร่งจังหวะในการลีลาศ ก็อาจทำให้สามารถจัดทรวดทรงได้ง่ายขึ้น
การเคลื่อนไหวขาและเท้า : ผู้หญิงจะเริ่มต้นเดินถอยหลังด้วยเท้าขวาก่อน เริ่มด้วยการถ่ายน้ำหนักตัวไปอยู่บนเท้าซ้าย ถอยเท้าขวาไปข้างหลังโดยเคลื่อนออกจากสะโพก เมื่อถอยเท้าขวาผ่านเท้าซ้าย ปลายเท้าซ้ายจะค่อย ๆ ยกขึ้นพ้นพื้น เมื่อถอยเท้าขวาออกไปเต็มที่ปลายเท้าขวาและส้นเท้าซ้ายจะสัมผัสพื้นพร้อมกัน ลำตัวยังคงเคลื่อนที่ไปข้างหลัง ลดส้นเท้าขวาลงบนพื้น ถ่ายน้ำหนักตัวมาอยู่บนเท้าขวา เท้าซ้ายถอยตามเท้าขวาไปข้างหลัง (ถอยด้วยส้นเท้า) เมื่อเท้าซ้ายถอยมาอยู่ระดับเดียวกับเท้าขวา ปลายเท้าซ้ายจึงจะสัมผัสพื้น
สำหรับการเดินถอยหลังด้วยเท้าซ้าย ให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับการเดินถอยหลังด้วยเท้าขวา การถ่ายน้ำหนักตัวในขณะที่เดินถอยหลังจากตำแหน่งที่อยู่กับที่ น้ำหนักตัวจะอยู่บนส้นเท้าก่อนเริ่มเดินถอยหลัง เมื่อก้าวเท้าเดินถอยหลังน้ำหนักตัวจะอยู่บนเท้าที่ไม่ได้ก้าว และเมื่อถอยเท้าไปข้างหลังเต็มที่แล้วน้ำหนักตัวจะอยู่ระหว่างส้นเท้าหน้ากับปลายเท้าหลัง แล้วค่อย ๆ ถ่ายน้ำหนักตัวไปอยู่บนเท้าหลัง
ข้อควรระวัง :
1. จากท่ายืนอยู่กับที่ เมื่อจะเคลื่อนที่จะต้องให้รู้สึกว่าลำตัวเคลื่อนที่ไปก่อนเท้า
2. ไม่ลากเท้าไปกับพื้น ให้ยกปลายเท้าขึ้นขณะเคลื่อนเท้าถอยไปข้างหลัง เข่าหย่อนและผ่อนคลายตามธรรมชาติตลอดการเดิน ขาเหยียดตรงเมื่อก้าวเท้าถอยหลังไปเต็มที่แล้ว แต่ไม่เกร็งเข่า
3. ข้อเท้าและหลังเท้าปล่อยตามสบาย
4. เท้าทั้งสองข้างเหยียดตรง ยกปลายเท้า ส้นเท้า และข้างเท้าด้านในผ่านซึ่งกันและกันทุกครั้งที่ก้าวเดิน
การเดินไปข้างหน้าของผู้หญิง (The Forward Walk Lady)
ถึงแม้ว่าการก้าวขาและเท้าของผู้หญิง จะเหมือนกับการเดินไปข้างหน้าของผู้ชาย แต่ผู้หญิงจะต้องไม่เอนลำตัวไปข้างหน้า ในการที่จะช่วยให้ผู้ชายเดินถอยหลังได้สะดวกขึ้นนั้น ผู้หญิงจะต้องดันลำตัวไปข้างหน้าขณะที่ก้าวเท้าเดิน แต่จะต้องไม่ทำให้ผู้ชายเสียการทรงตัว สำหรับผู้ชายยังคงเป็นผู้นำในการเคลื่อนที่ไปข้างหน้าหรือถอยหลังอยู่เช่นเดิม
การเดินถอยหลังของผู้ชาย (The backward Walk Gentleman)
โดยปกติแล้ว ผู้ชายมักจะไม่ค่อยเดินถอยหลัง ยกเว้นจังหวะสโลว์ฟอกซ์ทรอท (Slow Fox-trot) ถึงแม้ว่าการก้าวเท้าเดินถอยหลังของผู้ชาย จะมีลักษณะการก้าวขาและเท้าเหมือนกับการเดินถอยหลังของผู้หญิงก็ตาม แต่ผู้ชายต้องรักษาทรวดทรงให้เหมือนกับการเดินไปข้างหน้าอยู่เสมอ
อนึ่งในการฝึกเดินลีลาศ หากเป็นการฝึกเดินเพียงลำพัง ส่วนใหญ่จะเก็บมือโดยการท้าวเอวหรือเก็บมือแบบ C.b.M. คือ คว่ำฝ่ามือทั้งสองข้างวางทับกันในระดับอกและกางศอกทั้งสองข้างขนานกับพื้น วิธีนี้นิยมนำมาใช้ในการฝึกลีลาศประเภทบอลรูม(ballroom Dancing) แต่ในขณะที่ลีลาศกับคู่นั้น หากมือข้างใดไม่ได้ใช้หรือไม่ได้จับคู่ลีลาศ ก็จะมีตำแหน่งของการวางแขน(Arm Position) โดยนำมาจากท่าลีลาศของบัลเล่ย์ การจะวางแขนในลักษณะใดขึ้นอยู่กับรูปแบบของการลีลาศในลวดลายนั้น ๆ
การเคลื่อนไหวร่างกายไปในทิศทางตรงกันข้าม (Contrary body Movement)
การเคลื่อนไหวร่างกายไปในทิศทางตรงกันข้าม จะมีลักษณะการเดินบิดสะโพกและไหล่ด้านตรงข้ามกับเท้าที่ก้าวไปทำให้เกิดการบิดลำตัวขณะก้าวเท้าบางครั้งเรียกว่าการเหวี่ยงลำตัว (body Swing) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการหมุน นักลีลาศทั่วไปนิยมเรียกการเคลื่อนไหวร่างกายไปในทิศทางตรงกันข้ามว่า ซี.บี.เอ็ม. (C.b.M.) ซึ่งสามารถสื่อความหมายและเป็นที่เข้าใจกัน แต่สิ่งที่ควรระวังในการทำ ซี.บี.เอ็ม. คือ หากทำมากเกินไปจะทำให้ลีลาศไม่สวยงามหรือเสียการทรงตัวได้ง่าย
ในการลีลาศมีการหมุนอยู่ 4 วิธี คือ การหมุนไปทางซ้ายหรือขวาในขณะเคลื่อนที่ไปข้างหน้า และการหมุนไปทางซ้ายหรือขวาในขณะเคลื่อนที่ถอยหลัง มีวิธีปฏิบัติ ดังนี้
1. หมุนตัวไปข้างหน้าทางซ้าย (Forward Turn to Left)
วิธีปฏิบัติ : ก้าวเท้าซ้ายไปข้างหน้าขณะเดียวกันบิด (Swing) ไหล่และสะโพกขวาไป ข้างหน้า
2. หมุนตัวไปข้างหน้าทางขวา (Forward Turn to Right )
วิธีปฏิบัติ : ก้าวเท้าขวาไปข้างหน้าขณะเดียวกันบิด (Swing) ไหล่และสะโพกซ้ายไป ข้างหน้า
3. หมุนตัวถอยหลังไปทางซ้าย (backward Turn to Left)
วิธีปฏิบัติ : ถอยเท้าขวาไปข้างหลังขณะเดียวกันบิด (Swing) ไหล่และสะโพกซ้ายไป ข้างหลัง
4. หมุนตัวถอยหลังไปทางขวา (backward Turn to Right)
วิธีปฏิบัติ : ถอยเท้าซ้ายไปข้างหลังขณะเดียวกันบิด (Swing) ไหล่และสะโพกขวาไป ข้างหลัง
ในการทำ ซี.บี.เอ็ม. จะต้องบิดทั้งไหล่และสะโพก ถ้าพยายามฝึกจนเกิดความเคยชินจะพบว่า ในขณะที่หมุนตัวไปข้างหน้าจะต้องหมุนจากไหล่ไปก่อน และในขณะที่หมุนตัวไปข้างหลังจะต้องหมุนจากสะโพกไปก่อน ความแตกต่างเล็กๆน้อยๆของการหมุนทั้งสองแบบนี้ จะช่วยให้ผู้เริ่มฝึกลีลาศใหม่ๆ เข้าใจได้ดีและปฏิบัติได้ถูกต้องรวดเร็วยิ่งขึ้น สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งในการทำ ซี.บี.เอ็ม. ก็คือ จะต้องไม่ทำให้ทิศทางการก้าวเท้าเปลี่ยนแปลงไป ข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นเสมอกับ ผู้ฝึกลีลาศใหม่ๆ คือ การเปลี่ยนทิศทางการก้าวเท้าขณะทำ ซี.บี.เอ็ม. ตัวอย่างเช่น
ยืนหันหน้าตามแนวลีลาศ น้ำหนักตัวอยู่บนเท้าซ้าย และพร้อมที่จะหมุนตัวไปข้างหน้าทางขวา ในขณะที่ก้าวเท้าขวาไปข้างหน้าพร้อมกับบิดไหล่และสะโพกซ้ายไปทางขวา ผู้ฝึกลีลาศใหม่ๆส่วนมาก มักจะก้าวเท้าขวาไปในทิศทางเฉียงฝาตามแนวลีลาศ ซึ่งเป็นการก้าวเท้าที่ผิด ที่ถูกแล้วลำตัวเท่านั้นที่บิดออกจากแนวลีลาศ เท้าขวาจะต้องก้าวตรงไปข้างหน้าหรือวางอยู่หน้าเท้าซ้าย และในการหมุนตัวถอยหลังก็เช่นเดียวกัน
ตำแหน่งการเคลื่อนไหวร่างกายไปในทิศทางตรงกันข้าม (Contrary body Movement Position)
การทำ ซี.บี.เอ็ม. เป็นการเคลื่อนไหวไหล่ ลำตัว และสะโพกให้บิดไปข้างหน้า ส่วนตำแหน่งการเคลื่อนไหวร่างกายไปในทิศทางตรงกันข้าม หรือที่นักลีลาศนิยมเรียกกันว่า ซี.บี.เอ็ม.พี. (C.b.M.P.) คือ การก้าวเท้าข้างใดข้างหนึ่งไปข้างหน้าหรือไข้วไปข้างหลังของเท้าอีกข้างหนึ่งโดยไม่หมุนลำตัว แต่ในบางกรณีอาจนำ ซี.บี.เอ็ม. มาใช้พร้อมกันด้วยก็ได้
ผู้ที่ฝึกลีลาศใหม่ๆ จะต้องจำไว้ว่า ทุกครั้งที่ก้าวเท้าออกนอกคู่ (Outside Partner) หรือคู่ลีลาศอยู่ข้างนอก (Partner Outside) จะต้องอยู่ในท่า ซี.บี.เอ็ม.พี. เพื่อให้ลำตัวของคู่ลีลาศชิดกันมากที่สุด ซี.บี.เอ็ม.พี. จะเกิดขึ้นเสมอในลวดลายพรอมมิหนาด(Figure Promeade) ของจังหวะแทงโก้ (Tango)
5. การเอนลำตัวและปริมาณการหมุน (body Sways and Amount of Turn)
การเอนลำตัว (body Sways)
การเอนลำตัวในการลีลาศประเภทบอลรูม (ballroom Dancing) เป็นองค์ประกอบที่สำคัญมาก เพราะจะทำให้เกิดความสวยและสง่างาม การเอนลำตัวสามารถกระทำได้ทุกครั้งที่มีการหมุน (Turn) ยกเว้นการหมุนแบบต่อเนื่อง (Spin Turn) ซึ่งเป็นการหมุนอย่างรวดเร็วจนไม่สามารถเอนลำตัวได้ทัน เมื่อใดก็ตามที่มีการหมุนก็จะใช้การเอนลำตัวร่วมด้วย นอกจากนี้ยังใช้การเอนลำตัวในลวดลาย (Figure) แบบโค้งหรือคดเคี้ยว (Curve or Wave) และบางลวดลายที่ก้าวออกทาง ด้านข้าง (Cross Dhasse’)
ในการหมุนทุกครั้งจะเริ่มด้วยการทำ ซี.บี.เอ็ม. (C.b.M.) การเอนลำตัวนั้นจะทำร่วมกันและต่อเนื่องกันไปจากการก้าวเท้าของ ซี.บี.เอ็ม. เช่น ถ้าก้าวเท้าขวาก็จะเอนลำตัวไปทางขวา ถ้าก้าวเท้าซ้ายก็จะเอนลำตัวไปทางซ้าย ทั้งการเดินไปข้างหน้าและการเดินถอยหลัง โดยปกติจะกระทำเพียงสองก้าว แต่บางครั้งการเอนลำตัวจะกระทำเพียงก้าวเดียว
หลักสำคัญของการเอนลำตัว คือ จะต้องเอนลำตัวไปหาจุดศูนย์กลางของการหมุน ประโยชน์ที่ได้รับจากการเอนลำตัว คือ จะช่วยให้ไม่เสียการทรงตัว จะเห็นได้อย่างชัดเจนในการลีลาศจังหวะวอลซ์ (Waltz) ผู้ที่เริ่มฝึกลีลาศใหม่ๆ จะพบว่า การเอนลำตัวไปในทิศทางตรงกันข้ามกับทิศทางที่กำลังเคลื่อนที่ไป จะช่วยไม่ให้เสียการทรงตัว ทั้งยังเป็นการเสริมบุคลิกภาพให้เกิดความสง่างามอย่างแท้จริง
การยกตัวขึ้นและลดตัวลง (Rise and Fall body)
การยกตัวขึ้นและลดตัวลงมีความสำคัญไม่มากนักสำหรับผู้ที่เริ่มฝึกลีลาศใหม่ๆ แต่มีความสำคัญมากในหมู่นักลีลาศที่ชำนาญแล้ว เพราะจะเป็นการยกระดับการลีลาศของตนให้สูงขึ้น ในนักลีลาศชั้นสูงจะใช้เทคนิคการยกตัวขึ้นและลดตัวลงได้อย่างอัตโนมัติ โดยไม่รู้สึกตัวว่ากระทำขึ้นเมื่อใด
สิ่งที่ควรทราบ คือ การยกตัวขึ้นในการลีลาศ มีผลมาจากการใช้กล้ามเนื้อขา การยกตัวขึ้นจะรู้สึกว่าเกิดขึ้นภายในลำตัวมากกว่าเกิดจากเท้าที่ใช้กล้ามเนื้อขา โดยปราศจากความสัมพันธ์กันในแต่ละก้าว จังหวะลีลาศที่มีการใช้เทคนิคการยกตัวขึ้นและลดตัวลง มีอยู่ 3 จังหวะ คือ จังหวะควิกสเตป (Quick Step) จังหวะวอลซ์ (Waltz) และจังหวะฟอกซ์ทรอท (Foxtrot) เป็นต้น
6. การนำและการตามในการลีลาศ (Leading and Following)
การที่จะลีลาศให้สวยงาม กลมกลืน และต่อเนื่องกันไป คู่ลีลาศจะต้องเคลื่อนไหวให้ สอดคล้องสัมพันธ์กันจากลวดลายหนึ่งไปอีกลวดลายหนึ่ง โดยปกติแล้วผู้ชายจะเป็นหลักในเรื่องของจังหวะดนตรี จังหวะของการลีลาศ และมีหน้าที่ในการให้สัญญาณนำ (Lead) ผู้หญิงให้สามารถลีลาศไปบนฟลอร์ได้อย่างราบรื่น สวยงาม และไม่ชนกับคู่ลีลาศอื่น ๆ สำหรับผู้หญิงจะทำหน้าที่เป็นผู้ตาม (Follow) โดยปล่อยให้ผู้ชายทำหน้าที่ในการนำทั้งหมด
การนำในการลีลาศ (Leading)
มีผู้ชายจำนวนไม่น้อยที่สามารถลีลาศลวดลายต่างๆได้ดี แต่เมื่อจับคู่ลีลาศกับผู้หญิง กลับมีปัญหาไม่สามารถลีลาศไปด้วยกันได้ หรืออาจจะถูกบ่นในทำนองที่ว่า ไม่สามารถเป็นผู้นำ (Lead) ในการลีลาศได้ ดังนั้น ผู้ชายจึงจำเป็นต้องเรียนรู้และฝึกปฏิบัติเกี่ยวกับการนำในการลีลาศให้ชำนาญ โดยมีวิธีปฏิบัติดังนี้
1) พื้นฐานที่สำคัญในการนำ การนำที่ดีเกิดจากพื้นฐานที่สำคัญ ดังนี้
1.1 ทรวดทรง จะต้องอยู่ในลักษณะที่พร้อมจะเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
1.2 จับคู่ลีลาศในตำแหน่งที่ถูกต้อง จะสามารถช่วยเหลือแก่คู่ลีลาศได้
1.3 มีความเข้าใจในจังหวะดนตรี และรูปแบบของดนตรีประเภทต่างๆ
1.4 มีความรู้ในลวดลายพื้นฐาน และลวดลายที่พลิกแพลงอื่นๆพอสมควร สามารถเชื่อมโยงลวดลายต่างๆเข้าด้วยกัน(Amalgamation)
1.5 สามารถให้สัญญาณในการนำ ก่อนที่จะเปลี่ยนไปใช้ลวดลายอื่น
2) กฎทั่วไปเกี่ยวกับการนำ ประกอบด้วย
2.1 ในการจับคู่ลีลาศควรจับให้รู้สึกมั่นคงแต่ไม่กระชับแน่นเกินไป จนผู้หญิงรู้สึกว่าถูกกอดรัด
2.2 ฟังและจับจังหวะดนตรีให้ได้ก่อนเริ่มลีลาศ
2.3 คิดล่วงหน้าเพื่อเป็นการเตรียมพร้อม ก่อนที่จะเปลี่ยนลวดลายใหม่
2.4 ให้สัญญาณนำก่อนที่จะเริ่มลวดลายใหม่ หรือเปลี่ยนทิศทางใหม่
2.5 เริ่มลีลาศจากลวดลายพื้นฐานก่อน แล้วจึงเปลี่ยนไปลีลาศในลวดลายที่พลิกแพลงขึ้น แต่ต้องแน่ใจว่าคู่ลีลาศสามารถลีลาศตามได้
3) สัญญาณในการนำทั้งผู้ชายและผู้หญิงจะต้องเรียนรู้และเข้าใจให้ตรงกัน จะไม่มีการให้สัญญาณด้วยคำพูด สัญญาณในการนำของผู้ชายมีดังนี้
3.1 การนำในการเคลื่อนที่ไปข้างหน้า (ผู้หญิงเคลื่อนที่ถอยหลัง) ให้เคลื่อนไหล่และหน้าอกไปข้างหน้า พร้อมกับยกแขนขวาขึ้นเล็กน้อย
3.2 การนำในการเคลื่อนที่ถอยหลัง (ผู้หญิงเคลื่อนที่ไปข้างหน้า) ให้ใช้มือขวากดตรงกลางหลังของผู้หญิงแล้วดึงผู้หญิงมาข้างหน้า
3.3 เมื่อต้องการให้ผู้หญิงเคลื่อนที่ไปทางซ้ายมือของผู้ชาย ให้กดนิ้วมือขวาทั้งสี่นิ้ว (ยกเว้นนิ้วหัวแม่มือ) ตรงบริเวณกลางหลังของผู้หญิง และดันผู้หญิงไปทางซ้ายมือของตน
3.4 เมื่อต้องการให้ผู้หญิงเคลื่อนที่มาทางขวามือของผู้ชาย ให้กดส้นมือขวาลงตรงกลางหลังของผู้หญิง และดึงผู้หญิงมาทางขวามือของตนเอง
3.5 ถ้าต้องการให้ผู้หญิงเคลื่อนที่ไปทางด้านข้าง ให้เลื่อนมือขวามาที่ข้างลำตัวของ ผู้หญิงแล้วกดมือขวาลง
3.6 ถ้าต้องการให้ผู้หญิงหมุนไปทางขวามือ ให้ยกมือซ้ายขึ้นเหนือศีรษะของผู้หญิง แล้วใช้มือขวาผลักตรงด้านข้างลำตัวของผู้หญิง
3.7 ถ้าต้องการให้ผู้หญิงย่อตัวต่ำ ให้กดปลายนิ้วมือขวาทั้งหมดลงตรงกลางหลังของผู้หญิง
3.8 ถ้าต้องการล็อค (Lock) ผู้หญิง ให้ใช้มือซ้ายบีบมือขวาของผู้หญิง และใช้มือขวายกลำตัวของผู้หญิงขึ้น
ผู้ชายพึงระลึกไว้เสมอว่า การนำคู่ลีลาศที่ดีนั้น จะช่วยให้คู่ลีลาศสามารถลีลาศตามด้วยความมั่นใจ ไม่ต้องคาดเดาว่าต่อไปจะต้องลีลาศลวดลายอะไร ทั้งยังทำให้คู่ลีลาศเกิดความรู้สึกสนุกกับการลีลาศด้วย
การตามในการลีลาศ (Following)
การตามในการลีลาศ เป็นหน้าที่ของผู้หญิงที่จะต้องปรับการลีลาศของตนเองไปตามจังหวะหรือลวดลายของผู้ชาย จะต้องไม่เกร็งตัวมากเกินไปจนทำให้เกิดแรงต้านใดๆหรือในทางตรงกันข้าม คือ ปล่อยตัวตามสบายเกินไป จะทำให้การนำของผู้ชายเป็นไปด้วยความยากลำบาก ในกรณีที่ผู้ชายนำได้ไม่ดีเท่าที่ควร ผู้หญิงควรจะคอยสังเกตุการเคลื่อนไหวลำตัวของผู้ชาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งตรงบริเวณไหล่และหน้าอก
กฎทั่วไปเกี่ยวกับการตามของผู้หญิงที่ควรทราบ มีดังนี้
1) พยายามยึดจังหวะการลีลาศของผู้ชาย
2) มีความสามารถตอบสนองการนำของผู้ชายได้อย่างฉับไว
3) คำนึงถึงหลักเบื้องต้นในการเคลื่อนที่ถอยหลัง และการวางน้ำหนักตัวขณะเคลื่อนไหวต้องไม่ให้เป็นภาระของผู้ชายที่จะต้องแบกรับน้ำหนักตัวของเรา
4) ในการเคลื่อนที่ถอยหลังให้ก้าวเท้าถอยหลังไปตรงๆ เพื่อให้ผู้ชายก้าวเท้ามาข้างหน้าได้สะดวก
5) การก้าวเท้า ให้ก้าวเท้าผ่านอีกเท้าหนึ่งให้ใกล้ที่สุดจนเกือบสัมผัสกัน
6) ไม่ควรคาดคะเนการนำหรือการเปลี่ยนลวดลาย (Figure) ก่อนผู้ชาย แต่ควรเป็นผู้ตามจากการนำของผู้ชาย
7) พยายามทำความคุ้นเคยกับลวดลายพื้นฐานของผู้ชายที่เราจับคู่ลีลาศด้วย
8) พึงระลึกไว้เสมอว่า จะต้องอยู่ใกล้ชิดกับคู่ลีลาศและรักษาทรวดทรงที่ดีไว้ตลอดเวลาในการลีลาศ เพื่อให้การนำของผู้ชายเป็นไปด้วยความสะดวก
7. การจับคู่ลีลาศ (The Hold)
การจับคู่ลีลาศ เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ฝึกลีลาศจะต้องทราบ และให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ เพราะถ้าจับคู่ไม่ถูกต้องตามแบบแผน นอกจากจะทำให้ขาดความสง่างามแล้ว ยังเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งในการนำ (Lead) และการตาม (Follow) เพราะจะทำให้เสียการทรงตัวและการก้าวเท้าของคู่ลีลาศไม่สอดคล้องสัมพันธ์กัน หรืออาจทำให้เหยียบเท้ากันได้ ดังนั้นการจับคู่ลีลาศที่ถูกต้องจึงมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งในการลีลาศ โดยเฉพาะผู้ชายจะต้องศึกษาทำความเข้าใจให้ถูกต้อง
โดยปกติท่าเริ่มต้นในการจับคู่ลีลาศแทบทุกจังหวะ จะจับคู่แบบบอลลูมปิด (Closed ballroom) ได้แก่ จังหวะวอลซ์ (Waltz) จังหวะควิกสเต็ป (Quick Step) จังหวะชะ ชะ ช่า (Cha Cha Cha) และจังหวะบีกิน (beguine) แต่เมื่อคู่ลีลาศออกลวดลาย (Figure) ต่างๆแล้ว การจับคู่ลีลาศจะเปลี่ยนไปเป็นแบบอื่นตามลวดลายของจังหวะนั้นๆ มีเพียงบางจังหวะที่จับคู่ลีลาศตอนเริ่มต้นแตกต่างออกไป ได้แก่ จังหวะแทงโก้ (Tango) จังหวะไจฟว์ (Jive) และจังหวะร็อคแอนด์โรล (Rock and Roll) เป็นต้น
การจับคู่เริ่มต้นในการลีลาศที่นิยมใช้โดยทั่วไปมี 2 แบบ คือ
1) การจับคู่ลีลาศแบบบอลรูมปิด (Closed ballroom)
ลักษณะการจับคู่ลีลาศของผู้ชาย (The Hole for Gentleman)
1. ยืนตัวตรงเท้าชิดกัน ปลายเท้าชี้ตรงไปข้างหน้า น้ำหนักตัวอยู่บริเวณปลายเท้า ลำตัวตั้งตรง เกร็งลำตัวบริเวณเองเล็กน้อยโดยไม่ต้องเกร็งไหล่ คอและศีรษะตั้งตรงตามสบาย
2. ใช้มือซ้ายจับมือขวาของผู้หญิง โดยการคีบนิ้วทั้งสี่ของผู้หญิงไว้ระหว่างนิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้ โอบนิ้วมือที่เหลือแตะหลังมือขวาของผู้หญิงโดยไม่บีบหรือเกร็งมือ
3. มือซ้ายไม่บิดงอจะเป็นแนวตรงตลอดถึงข้อศอก แขนซ้ายท่อนบนจากไหล่ถึงข้อศอกลาดลงเล็กน้อย พยายามให้ข้อศอกงออยู่ในระดับเดียวกับแผ่นหลังของผู้หญิง ระวังอย่าให้เอนไปข้างหน้า เพราะจะเป็นการดันแขนขวาของผู้หญิงให้เลยไปข้างหลัง และระวังอย่างดึงมือขวาของผู้หญิงมาข้างหน้าจนตนเองหลังแอ่น
4. แขนซ้ายตั้งแต่ข้อศอกจนถึงฝ่ามือ หักมุมชี้ตรงขึ้นและเอนไปข้างหน้าเล็กน้อยพยายามรักษาระดับเดิมจากไหล่ถึงข้อศอกไว้ ปลายแขนเอนเข้าหาศีรษะเล็กน้อย (แขนซ้ายตั้งแต่ไหล่ถึงฝ่ามือจะงอเป็นมุมฉาก)
5. แขนขวาตั้งแต่ไหล่จนถึงข้อศอกลาดลงจนเกือบมีลักษณะเดียวกับแขนซ้าย ศอกขวายื่นล้ำจากแนวไหล่ออกไปข้างหน้าเล็กน้อย เพราะจะต้องอ้อมไปแตะตรงกลางหลังของผู้หญิง ระวังอย่ายื่นศอกล้ำออกไปมากเกินไปและโอบลึกเกินไป ข้อศอกไม่ตกมาแนบข้างลำตัวจะทำให้ผู้หญิงพาดแขนซ้ายไม่ถนัด และผู้ชายก็ไม่ถนัดในการนำ (Lead) ผู้หญิง
6. ฝ่ามือขวาแตะตรงบริเวณใต้สะบักของผู้หญิง ปลายนิ้วมือพอดีกับกึ่งกลางสันหลังและแนบชิดกันไม่แตกแยกจากกัน จะทำให้มองดูแล้วไม่สวยงาม
7. จับคู่ลีลาศในลักษณะยืนชิดกัน ผู้ชายจะดึงผู้หญิงให้ยืนอยู่ตรงหน้าหรือยืนเยื้องมาทางขวามือของตนเองเล็กน้อย แต่ในงานสังคมทั่วๆไปควรยืนจับคู่ห่างกันประมาณ 6 นิ้ว
ลักษณะการยืนจับคู่ลีลาศของผู้หญิง (The Hold for Lady)
ในการจับคู่ลีลาศของผู้หญิงส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับผู้ชาย แต่ก็มีสิ่งที่ควรปฏิบัติ ดังนี้
1. ยืนตัวตรงเกร็งบริเวณเอนเล็กน้อยโดยไม่ยกและเกร็งไหล่ ยืนให้ตรงกับผู้ชายหรือยืนเยื้องไปทางซ้ายมือของตัวเองเล็กน้อย แต่ระวังอย่าให้มากเกินไป
2. ยื่นมือขวาให้ผู้ชายจับในระดับปกติ นิ้วมือทั้งสี่ยกเว้นนิ้วหัวแม่มือแนบชิดกัน
3. วางแขนซ้ายพาดทับแขนขวาของผู้ชายเบาๆ นิ้วมือซ้ายแนบชิดกันแตะบนต้นแขนขวาของผู้ชายค่อนไปจนเกือบถึงไหล่
ข้อเสนอแนะในการจับคู่ลีลาศแบบบอลรูมปิด
ในการจับคู่ลีลาศแบบบอลรูมปิด จะพบว่าคู่ลีลาศมีข้อบกพร่องในการจับคู่ ที่พบเห็นบ่อยๆ มีดังนี้
1. คู่ลีลาศยืนอยู่ชิดหรือห่างกันเกินไป
2.ในขณะลีลาศเมื่อมีการเคลื่อนที่และมีการใช้เท้าเฉียงทะแยงมุมไปทางด้านข้าง (เฉียงฝาหรือเฉียงกลางห้อง) ถ้าคู่ลีลาศเคลื่อนที่ไม่สัมพันธ์กัน จะทำให้ทั้งคู่รู้สึกว่าการเคลื่อนที่นั้นไม่ราบรื่น
3. มือซ้ายของผู้หญิงมักไม่วางที่ต้นแขนขวาของผู้ชาย
4. ถ้ามือขวาของผู้ชานแตะทางด้านหลังของผู้หญิงสูงหรือต่ำเกินไป จะทำให้ผู้หญิงเสียการทรงตัวได้ง่าย
5. ในขณะเคลื่อนที่ถอยหลัง น้ำหนักตัวของผู้หญิงมักจะทิ้งไปข้างหลังและตกบนส้นเท้ามากเกินไป
2) การจับคู่ลีลาศแบบบอลรูมเปิด (Open ballroom)
ลักษณะการจับคู่ลีลาศของผู้ชายและผู้หญิง (The Hole for Gentleman and Lady)
1. ผู้หญิงจะยืนอยู่ทางขวามือของผู้ชาย หันหน้าไปในทิศทางเดียวกัน ด้านข้างลำตัวของผู้หญิงและผู้ชายอยู่ชิดกัน
2. ผู้ชายใช้แขนขวาโอบไปที่เอวของผู้หญิงทางด้านหลัง ไหล่ขวาบิดเข้าหาผู้หญิง ยกข้อศอกขวาขึ้นสูงพอประมาณ
3. ผู้หญิงใช้มือซ้ายวางที่บริเวณไหล่ขวาของผู้ชาย โดยวางแขนซ้ายพาดทับแขนขวาของ ผู้ชายเบาๆ
4. ผู้ชายใช้มือซ้ายจับมือขวาของผู้หญิง เหยียดแขนซ้ายไปข้างหน้า หรือจะงอศอกซ้ายเข้ามาเล็กน้อยก็ได้
นอกจากนี้ยังมีการจับคู่ลีลาศอีกลักษณะหนึ่ง คือ การจับคู่ลีลาศในประเภทจังหวะลาติน อเมริกัน (Latin American) การจับคู่ในการลีลาศจังหวะประเภทนี้ จะมีลวดลายการลีลาศและการจับคู่ที่แตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับรูปแบบของการลีลาศ การจับคู่ลีลาศในแต่ละรูปแบบ มีดังนี้
การจับคู่แบบลาตินอเมริกัน
1) การจับคู่ลีลาศแบบปิด (Closed Position) มีความแตกต่างจากการจับคู่ลีลาศแบบบอลรูมปิด ดังนี้
1. ระยะห่างระหว่างคู่ลีลาศ ทั้งคู่จะยืนห่างกันมากกว่าการจับคู่ลีลาศแบบบอลรูมปิด
2. มือขวาของผู้ชายแตะตรงสะบักซ้ายของผู้หญิง แทนที่จะแตะตรงกลางหลัง
3. แขนซ้ายของผู้หญิง วางซ้อนทาบอยู่บนแขนขวาของผู้ชายอย่างสบายๆ
4. มือซ้ายของผู้ชายยังคงจับมือขวาของผู้หญิงไว้เหมือนกับการจับคู่ลีลาศแบบบอลรูมปิด
2) การจับคู่ลีลาศแบบเปิด พบมากในการลีลาศจังหวะไจฟว์ (Jive) และจังหวะร็อค แอนด์ โรล (Rock and Roll) เป็นการจับมือเพียงข้างเดียว โดยผู้ชายใช้มือซ้ายจับมือขวาของผู้หญิง ยืนห่างกันในระยะที่ต่างตนต่างเหยียดแขนได้พองาม ส่วนมือข้างที่เป็นอิสระจะถูกยกไว้ข้างลำตัว หรืออาจจะยกชูสูงขึ้นก็ได้แล้วแต่ลีลาของคู่ลีลาศ
3) การจับคู่ลีลาศแบบข้าง จะพบมากการลีลาศจังหวะชะ ชะ ช่า (Cha Cha Cha) และจังหวะ คิวบัน รัมบ้า (Cuban Rumba) การจับคู่ลีลาศแบบนี้เป็นการจับคู่ลีลาศด้วยมือข้างเดียว และจับในขณะที่ทั้งผู้ชายและผู้หญิงยืนหันหน้าเข้าหากัน หรือหันหน้าไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งคู่ยืนห่างกันพอประมาณ ส่วนแขนข้างที่เป็นอิสระอาจเหยียดออกไปข้างลำตัวโดยงอแขนเล็กน้อย หรืออาจยกชูสูงขึ้นได้
4) การจับคู่ลีลาศแบบสองมือ มักนำมาใช้ลีลาศในจังหวะไจฟว์ (Jive) เป็นส่วนมาก ทั้งผู้ชายและผู้หญิงจะยืนหันหน้าเข้าหากันและห่างกันพอสมควร มือซ้ายของผู้ชายจับมือขวาของผู้หญิงและมือขวาของผู้ชายจับมือซ้ายของผู้หญิง ลักษณะการจับมือ ผู้ชายจะหงายฝ่ามือทั้งสองข้างขึ้น ผู้หญิงจะคว่ำฝ่ามือทั้งสองข้างวางลงบนฝ่ามือของผู้ชาย โดยผู้ชายใช้นิ้วหัวแม่มือทั้งสองข้างกุมมือของผู้หญิงไว้
1. จังหวะควิ๊กสเต็ป
จังหวะควิ๊กสเต็ปได้แตกแขนงมาจาก จังหวะฟอกซ์ทรอท ช่วงทศวรรษที่ 20 วงดนตรีส่วนมากจะเล่นจังหวะฟอกซ์ทรอท ถึง 50 บาร์ต่อนาที ซึ่งเป็นความเร็วที่เร็วเกินไป การก้าวเท้าที่เปิดกว้างของจังหวะสโลว์ฟอกซ์ทรอทไม่สามารถจะทำการเต้นบนความเร็วขนาดนี้ได้
ชาวอังกฤษได้พัฒนามาจากการเต้น ชาร์ลสทั่น (CHARLESTON) ต้นแบบซึ่งเป็นจังหวะหนึ่งของการเต้นที่ต่อเนื่องโดยไม่มีการเตะเท้าและได้ทำการผสมผสานกับจังหวะฟอกซ์ทรอท (เร็ว) ที่ได้กล่าวมาแล้วเรียกจังหวะนี้กันว่า จังหวะควิ๊กไทม์ ฟอกซ์ทรอท และชาร์ลสทั่น (QUICKSTEP FOXTROT AND CHARLESTON) คู่เต้นรำชาวอังกฤษ แฟรงค์ฟอร์ด และ มอลลี่ สเปญ (FRANKFORD AND MOLLY SPAIN)ได้เต้นรูปแบบใหม่ของจังหวะ QUICKTIME FOXTROT AND CHARLESTON ในงานเดอะสตาร์แชมป์เปี้ยนชิพ ของปี ค.ศ.1927 โดยปราศจากลักษณะท่าทางของการใช้เข่าแบบ CHARLESTON และทำการเต้นเป็นคู่แทนการเต้นแบบเดี่ยว รูปแบบท่าเต้น คือ QUARTER TURNS, CROSS CHASSES, ZIGZAGS, CORTES,OPEN REVERSE TURNS และ FLAT CHARLESTON
ในปี ค.ศ. 1928 / 1929 จังหวะควิ๊กสเต็ปได้แจ้งเกิดอย่างแน่ชัด ในรูปแบบของ การก้าวแบบ ชาสซี่ส์ (CHASSES STEPS)
เอกลักษณ์เฉพาะะของจังหวะควิ๊กสเต็ป คือ กระฉับกระเฉง ตื่นตัว และชั่วพริบตา ความเพลิดเพลินการเคลื่อนไหว อย่างรวดเร็ว ลูกเล่นของเท้า ร่วมโบยบิน และเคลื่อนเลียดพื้นอย่างโล่งอิสระห้องดนตรี 4 / 4ความเร็วต่อนาที 50 บาร์ต่อนาที สอดคล้องกับกฎของ IDSF การเน้นจังหวะ บนบีทที่ 1 และ 3ระยะเวลาของการแข่งขัน 1 นาทีครึ่ง ถึง 2 นาทีการขึ้นและลงเริ่มขึ้นหลังสิ้นสุด 1 “ขึ้น” ต่อเนื่องตอน 2 และ 3 ขึ้น / ลดลง หลังสิ้นสุด 4หลักพลศาสตร์ เลื่อนไหล โบยบิน และการเคลื่อนที่เลียดพื้น
การสื่อความหมายของจังหวะควิ๊กสเต็ป คือ ร่างสองร่างกำลังเคลื่อนที่ในความเร็วตามความต้องการของจังหวะควิ๊กสเต็ป เหนือสิ่งอื่นใด การทำให้เป็นจังหวะเดียวกัน รวมไปถึงการเข้าใจเกี่ยวกับการเกร็งยืดของขา และวิธีการใช้ข้อเท้าระหว่างปฏิบัติการของลูกเล่นของเท้า (TRICKSTEPS) ทั้งคู่ ต้องการการปรับระดับการควบคุม (TONING) ของเท้าและขา เปรียบเทียบได้กับจังหวะไจว์ฟ (JIVE) ในการเต้นแบบลาติน อเมริกัน การสื่อความหมายของดนตรีที่ถูกต้อง จังหวะเวลาของการช้า (SLOWS) ควรยืดออกเล็กน้อยเพื่อสร้างพลังของอาการคมชัดในข้อเท้า ใน “การเร็ว” (QUICKS) ประสบการณ์ของการใช้ฟลอร์ (FLOORCRAFT) ในจังหวะนี้มีความสำคัญมากกว่าการเต้นรำแบบอื่น ๆ
ดนตรีและการนับจังหวะควิกสเต็ป จะเป็นแบบ 4/4 คือมี 4 จังหวะใน 1 ห้องเพลง เสียงหนักจะตกที่จังหวะ 1 และ 3 การนับจังหวะจะนับ ช้า – ช้า – เร็ว – เร็ว – ช้า หรือนับแบบ 1 – 2 , 3 – 4 , 5 , 6 , 7 – 8 , 1
ความเร็วของจังหวะดนตรีที่เป็นมาตรฐานในจังหวะนี้บรรเลงด้วยความเร็วประมาณ 48-52 ห้องเพลงใน 1 นาที
การเต้นรำในจังหวะควิกสเต็ป จะมีการเคลื่อนที่ไปในทิศทางของแนวเต้นรำ(ทวนเข็มนาฬิกา) โดยจะเคลื่อนที่ไปอย่างรวดเร็ว ในช่วงของการก้าวช้าจะมีการยุบย่อตัวเพื่อให้มีแรงส่งในขณะยืดตัวขึ้นเพื่อก้าวเท้าไปข้างหน้าในจังหวะก้าวเท้าเร็ว ในขณะที่เต้นร่างกายส่วนบนตั้งแต่เอวถึงศรีษะจะตรงในระดับมูลฐาน แต่ถ้าเป็นในระดับสูงจะมีการเอียงตัวบ้างในบางลวดลาย
ในการก้าวเท้าจะให้ส้นเท้าลงพื้นก่อนแล้วจึงราบเท้าลงเมื่อก้าวเท้าไปข้างหน้าในจังหวะช้าแต่ถ้าเป็นการก้าวเท้าในจังหวะเร็วให้ฝ่าเท้าลงพื้นก่อน ถ้าเป็นการถอยหลังให้ลงด้วยปลายเท้าก่อนเสมอ ในบางก้าวจะมีการงอของเข่าทั้งสอง ในการเต้นไปรอบๆฟลอร์ของจังหวะควิกสเต็ป ในลวดลายต่างๆ จะมีการยุบ – ยืดตัว แบบวอลซ์ แต่เร็วกว่า
การจับคู่ของควิกสเต็ป เป็นแบบบอลรูมปิด
ลวดลายการเต้นของจังหวะนี้มีอยู่มากมาย แต่ในบทเรียนนี้จะขอนำเสนอลวดลายในขั้นมูลฐานที่นิยมเต้นกันมากโดยทั่วไป ดังนี้
1. ควอร์เตอร์ เทิร์น (Quarter Turn)
2. แนชเชอรัล เทิร์น (Natural Turn)
3. โพรเกรสซีพ แชสเซ่ (Progressive Chasse)
4. แชสเซ่ รีเวิร์ส เทิร์น (Chasse Reverse Turn)
5. ฟอร์เวิร์ด ล็อค สเต็ป (Foreward Lock Step)
6. แนชเชอรัล สปิน เทิร์น (Natural Spin Turn)
7. ซิกแซก (Zig – Zag)
8. รันนิ่ง ซิกแซก (Running ZIG – ZAG)
ในการเต้นจริง ๆ แล้ว ผู้เต้นจะนำลวดลายใดไปเต้นก่อนก็ได้ หรือจะผูกลวดลายแต่ละอย่างเอาเองก็ได้ ตามความเหมาะสมหรือตามความถนัด
2. จังหวะแซมบ้า
ต้นแบบของแซมบ้ามาจากอัฟริกา แต่ได้รับการพัฒนามากที่สุดที่ประเทศบราซิล ซึ่งจะปรากฏให้เห็นในงานเทศกาลรื่นเริงและตามโรงเรียนสอนจังหวะแซมบ้าในประเทศบราซิล
ปี ค.ศ. 1925 จังหวะแซมบ้าได้เริ่มแพร่หลายเข้าสู่ทวีปยุโรป ถึงแม้ว่า แซมบ้า จะได้รับการยอมรับเป็นจังหวะหนึ่งที่ใช้ในการแข่งขันก็ตามแต่การบุกเบิกครั้งสำคัญของจังหวะแซมบ้า ได้เกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1939 ในงานมหกรรมการแสดงระดับโลกในนครนิวยอร์ค จังหวะแซมบ้าได้ถูกยอมรับอย่างแท้จริงในปี ค.ศ. 1948/1949 ผู้ที่ได้พัฒนาจังหวะแซมบ้า มากที่สุดคือ WALTER LAIRDและ LORRAINE ซึ่งทั้งสองท่านเป็นอดีตแชมป์เปี้ยนโลก ของการเต้นรำแบบลาตินอเมริกันที่มีชื่อเสียงโด่งดังในยุคนั้น
เอกลักษณ์เฉพาะของจังหวะแซมบ้า คือ เบิกบาน มีชีวิตชีวา และความพึงพอใจ การเคลื่อนไหว แบบซิคแซค , เคลื่อนที่แบบเดินขบวน และแบบวงกลม เต้นในที่โล่ง หรืออยู่กับที่ห้องดนตรี 2/4 ความเร็วต่อนาที 50 บาร์ สอดคล้องกับกฎของ IDSF การเน้นจังหวะบนบีท (Beat)ที่ 2 ระยะเวลาที่ใช้ในการแข่งขัน 1 นาทีครึ่ง ถึง 2 นาที การขึ้นและลงท่าเบ้าส์ (Bounce) ของแซมบ้าหลักพลศาสตร์ ความหนักหน่วง ยืดหยุ่น หน่วง แล้วก็ทันทีทันใด
การสื่อความหมายของจังหวะแซมบ้า เป็นแบบฉบับท่าทางการยืดหยุ่นขึ้นลงของแซมบ้า (BOUNCE ACTION) ก่อให้เกิดการย่นย่อ และการเหยียดตึงของเข่า และข้อเท้า ของขาข้างที่รองรับน้ำหนักอยู่ ในแต่ละครั้งของการยืดขึ้นและหน่วงลงใช้เวลา ครึ่งบีท (1/2 BEAT) ของดนตรี ระดับของการใช้ความยืดหยุ่นในท่าเต้นต่างๆ ไม่เหมือนกันทั้งหมด บ้างก็มีเพียงเล็กน้อย บ้างก็ไม่มีการขึ้นลงเลยลีลาท่าทางของแซมบ้า ควรสะท้อนให้เห็นถึงการเดินพาเหรดเคลื่อนเป็นวงกลมในที่โล่งแสดงอวดผู้ชมบ้างในบางครั้ง ด้วยการเต้นพักอยู่กับที่
3. จังหวะแทงโก้
เป็นจังหวะที่จัดอยู่ในประเภทบอลรูมกำเนิดขึ้นครั้งแรกในเอเซียนานกว่า 500 ปีมาแล้ว ต่อมาพวกยิปซีได้นำไปเต้นในประเทศสเปนแล้วแพร่หลายไปยังอาร์เจนตินาและอุรุกวัย โดยพัฒนาไปในรูปการเต้นรำพื้นเมือง ( Folk Dance ) คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าแทงโก้กำเนิดจากประเทศอาร์เจนตินา ในกรุงบัวโนสไอเรส ครั้งแรกมีลีลาการเต้นรำที่มีการหยุดเป็นระยะ เรียกว่า ไบเล่ คอน คอร์เต้ (Baile Con Corte) ในระยะแรกนั้นยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก จนกระทั่งได้นำการเต้นรำแบบนี้ไปเต้นตามสถานที่ต่างๆ และได้เปลี่ยนลีลาการเต้นให้นุ่มนวลขึ้น และเรียกชื่อใหม่ว่า แทงโก้
ในคริสศตวรรษที่ 19 จังหวะนี้ได้แพร่หลายเข้ามาในยุโรป ได้มีการโชว์จังหวะแทงโก้เป็นครั้งคราวในกรุงปารีส ต่อมา มิสเตอร์ทอด แคมส์ ได้ชักชวนผู้ชอบแทงโก้มาร่วมกันคิดท่าเต้นเพื่อให้ใช้ในการเต้นแบบบอลรูมได้ และแทงโก้ได้รับความนิยมเต้นกันมากขึ้นตามสถานที่เต้นรำ ต่อมาทางเจ้าของร้านและภัตตาคารต่างๆ จึงเริ่มจัดให้มีฟลอร์ขึ้น โดยโรงแรม ซาวอย เป็นสถานที่แห่งแรกได้ริเริ่มจัดให้มีฟลอร์ลีลาศขึ้นในภัตตาคาร
การเต้นแทงโก้ในยุคนั้น มีการเต้นที่แตกต่างกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าได้รับการฝึกสอนจากใคร การเต้นไม่มีหลักเกณฑ์ใดๆ บางสเต็ปก็เรียกเป็นภาษาฝรั่งเศส บางสเต็ปก็เรียกเป็นภาษาเสปน เมื่อคนนิยมกันมากจึงมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์และให้ดีขึ้นตามลำดับ จนกระทั่งมีข้อกำหนดแบบอย่างลวดลายที่ตายตัวมาจนถึงปัจจุบันนี้
ดนตรีของจังหวะแทงโก้มีท่วงทำนองลีลาที่ระทึกใจ เร้าอารมณ์ แต่แฝงความนุ่มนวล แม้ว่าในตอนต้นๆ ที่มีการรับรองให้แทงโก้เป็นจังหวะมาตราฐานในการลีลาศแบบบอลรูมนั้น จะไม่ได้รับความนิยมเท่ากับจังหวะวอลซ์ ฟอกซ์ทรอต และควิ๊กสเต็ปก็ตาม แต่ต่อมาจังหวะดนตรีของแทงโก้และลวดลายต่างๆ ได้รับการพัฒนาให้เหมาะสมและง่ายต่อผู้ฝึกหัดใหม่ จึงไม่เป็นสิ่งยุ่งยากสำหรับผู้ที่ต้องการฝึกหัด
ลองพิจารณาซิว่าการเต้น แทงโก้ ของคุณต้องไม่ดูเหมือนหุ่นยนต์ แต่ท่าทางการเคลื่อนไหวต้องแผ่รังสีคล้ายสัตว์ ดั่งแมว หรือ เสือ นอกเหนือจากนั้น ความสำนึกในหลายๆ รูปแบบของการเต้นต้องใส่ความรู้สึกที่หยิ่งยะโส ตามแบบฉบับของชาวสเปน มันไม่มีการขึ้นและลง ไม่มีการสเวย์ของลำตัว ต้นขา และ เข่า เบี่ยงชิดซึ่งกันและกันเล็กน้อย ( ให้นึกถึงความรู้สึกที่เพรียว ชะลูด ) ด้านขอบในของเท้าให้เก็บเข้าหากันเล็กน้อย ตลอดเวลา ฝ่ายหญิงให้ยื่นเบี่ยงไปทางขวา ของชายมากกว่าที่เคย และสร้างกิริยา ท่าทาง ที่เหย่อหยิ่ง และเชื่อมั่น คู่เต้นรำต้องแผ่รังสี ในการดูดซับความรู้สึกของลำตัว ซึ่งกันและกันไว้ สำหรับการเพิ่มแรงโน้มถ่วงที่ลงพื้น มีไว้ในสถานการณ์ที่ต้องการสับเปลี่ยน ให้เป็นอย่างฉับพลันสงบนิ่งการใช้เท้าส่ง (SUPPORTING FOOT) มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งเหมือนกับทุกๆ จังหวะ การเคลื่อนลำตัวให้ผ่านเท้า และลีลาท่าทางการก้าวย่างของโครงสร้างท่าเต้น จะเพิ่มศักยภาพให้กับแทงโก้ของคุณในด้านการแสดงออก รากเหง้าของจังหวะ แทงโก้คือ การเต้นรำที่เหมือน “ศิลปะการการละคร และการให้อารมณ์” (DRAMA AND MOOD)การให้จังหวะที่ถูกต้องในรูปแบบท่าเต้นแสดงให้เห็นถึงความ เฉียบคม และ ความแตกต่างอย่างชัดเจน ระหว่างการเคลื่อนไหว และ ความสงบนิ่ง การต่อต้าน หรือการต่อสู้ขัดขืนพัฒนาไปสู่ คุณภาพของความ เฉียบพลันในการเคลื่อนไหวของจังหวะ แทงโก้
ดนตรีและการนับจังหวะแทงโก้ เป็นแบบ 2/4 คือใน 1 ห้องเพลง มี 2 จังหวะ ดนตรีจะเน้นเสียงหนักทั้งจังหวะที่ 1 และที่ 2
แทงโก้จะมีการก้าวเท้าทั้งช้าและเร็ว ฉะนั้นจึงต้องพยายามก้าวให้ตรงกับจังหวะที่นับ ก้าวที่ช้าเท่ากับ 1 จังหวะ และก้าวเร็วเท่ากับ 1/2 จังหวะ การนับโดยทั่วไป ของแทงโก้ คือ ช้า ช้า เร็ว เร็ว ช้า
ความเร็วมาตราฐานของดนตรีในจังหวะแทงโก้ คือ 33 ห้องเพลงต่อนาที (28-34 ห้องเพลงต่อนาที)
การจับคู่ในจังหวะแทงโก้ เป็นการจับคู่แบบบอลรูมปิด แต่ที่แตกต่างกว่าจังหวะอื่นก็คือการจับคู่ที่กระชับและลำตัวชิดติดกัน การยืนจะยืนหันหน้าเข้าหากัน แต่ฝ่ายหญิงจะยืนเหลื่อมไปทางขวาของผู้ชายเล็กน้อย ฝ่ามือขวาของผู้ชายจะโอบลึกไปกลางแผ่นหลังบริเวณใต้กระดูกสะบ้าของฝ่ายหญิงมากกว่าจังหวะอื่นเล็กน้อย ส่วนมือซ้ายให้งอเข้ามาใกล้ตัวเล็กน้อยแต่ข้อศอกอยู่ในระดับเดิม ลักษณะเช่นนี้ทำให้ลำตัวของผู้ชายซีกด้านขวาจะบิดล้ำไปข้างหน้ามากกว่าด้านซ้าย ส่วนผู้หญิงจะต้องลดระดับข้อศอกขวาและมือขวาลงเล็กน้อย ส่วนมือซ้ายจะวางอยู่บนต้นแขนขวาของผู้ชายค่อนไปทางหัวไหล่และเลยไปทางด้านหลังเล็กน้อย
การที่จังหวะแทงโก้มีลักษณะการจับคู่ที่ค่อนข้างกระชับและลำตัวชิดกันมากนั้น อาจจะดูไม่ดีงามในสังคมไทย ซึ่งในการนี้เราอาจจะจับคู่ในแบบบอลรูมธรรมดาก็ได้เพียงแต่ฝ่ายชายดึงมือซ้ายเข้ามาใกล้ตัวเล็กน้อย
จังหวะแทงโก้มีลวดลายการเต้นที่หลากหลาย ดังนั้นในบางครั้งจะมีการจับคู่แบบพรอมมิหนาด คือ การจับคู่ที่ชายและหญิงหันหน้าไปในทิศทางเดียวกัน สะโพกขวาของชายจะสัมผัสกับสะโพกซ้ายของหญิง ลำตัวเปิดเป็นรูปตัว วี (V) โดยที่ลำตัวแยกออกจากกันเป็นมุม 90 องศา การยืนแบบนี้จะทำให้มือขวาของผู้ชายโอบด้านหลังของผู้หญิงได้ลึกกว่าแบบปิด
ลักษณะการเดินที่แตกต่างจากจังหวะอื่นๆ ก็คือ การเดินที่มีลักษณะ เดินและหยุด เป็นช่วงๆ อย่างชัดเจน ลักษณะดังกล่าวที่เกิดขึ้นเพราะในการเคลื่อนไหวจะมีการหน่วงของเท้าที่กำลังเคลื่อนที่อยู่ เช่น เมื่อเราก้าวเท้าขวาไปข้างหน้าโดยลงส้นเท้าแล้วจึงราบเท้าลงเต็มเท้า เราจะต้องหน่วงการเคลื่อนไหวของเท้าซ้ายให้ช้าลงเล็กน้อย ดังนั้นเมื่อเราจะก้าวเท้าซ้ายไปข้างหน้าจึงต้องรีบเพื่อให้ทันจังหวะดนตรี การก้าวเท้าในลักษณะนี้การเดินถอยหลังจะรู้สึกว่ายากกว่าเพราะต้องให้ปลายเท้าถึงพื้นก่อนแล้วค่อยราบลงเต็มเท้า
การก้าวเท้าในจังหวะนี้ให้ยกเท้าพ้นพื้นเล็กน้อย จะไม่ไสเท้าไปกับพื้น ระยะก้าวปานกลาง เหมือนกับการก้าวเท้าเดินตามปกติ ลักษณะการก้าวเท้าจะมีการงอเข่าตลอดการเต้น การงอเข่าจะดูเหมือนการบิดเข่าทั้งสองเข้าหากัน ขณะที่ก้าวเท้าของจังหวะแทงโก้นั้นลำตัวจะไม่เหมือนจังหวะอื่น จึงทำให้ดูคล้ายคนบิดตัว เช่น ถ้าก้าวเท้าซ้ายไปข้างหน้าแล้วนำด้วยไหล่ขวา ส่วนล่างของร่างกายจากเอวถึงเท้าจะหันตรงไปตามแนวเต้นรำ แต่ส่วนบนตั้งแต่เอวไปจนถึงศรีษะจะบิดหันไปทางซ้ายโดยหันเฉียงเข้ากลางห้องตามแนวเต้นรำ
ลวดลายของจังหวะแทงโก้ที่จัดอยู่ในขั้นมูลฐานที่นิยมเต้นกันมากโดยทั่วไป ได้แก่
1. วอล์ค (Tango Walk)
2. โพรเกรสซีฟ ไซด์ สเต็ป (Progressive Side Step)
3. โพรเกรสซีพ ลิงค์ (Progressive Link)
4. โคลส พรอมมิหนาด (Closed Promenade)
5. ร็อค เทิร์น (Rock Turn)
6. โอเพ่น พรอมมิหนาด (Open Promenade)
7. แนชเชอรัล ทวิสต์ เทิร์น (Natural Twist Turn)
8. โอเพ่น รีเวิร์ส เทิร์น (Open Reverse Turn)
9. แบค คอร์เต้ (Back Corte)
4. จังหวะชะ ชะ ช่า
เป็นจังหวะลีลาศจังหวะหนึ่งในประเภทลาตินอเมริกัน ที่ได้พัฒนามาจาก จังหวะ แมมโบ้ (MAMBO) ชื่อจังหวะนี้ตั้งขึ้นโดยการเลียนเสียงของ รองเท้า ขณะที่กำลังเต้นรำของสตรีชาวคิวบา จังหวะ ชา ชา ช่า ได้ถูกพบเห็นเป็นครั้งแรก ที่ประเทศอเมริกา แล้วแพร่หลายไปทั่วโลกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จังหวะแมมโบ้ เสื่อมความนิยมลง โดยหันมานิยมจังหวะ ชะ ชะ ช่า ซึ่งได้รับความนิยมเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันนี้
จังหวะชะ ชะ ช่า ได้เข้ามาที่ประเทศไทยในปี พ.ศ. 2498 โดยชาวฟิลิปปินส์ชื่อ เออร์นี่ ซึ่งเป็นนักดนตรีของวงดนตรีคณะ“ซีซ่า วาเลสโก” นายเออร์นี่ ได้โชว์ลีลาการเต้น ชะ ชะ ช่า ประกอบการ เขย่ามาลากัส จากลีลาการเต้นนี้ได้สร้างความประทับใจให้กับนักเต้นและครูลีลาศของไทย จึงได้ขอให้นายเออร์นี่ ช่วยสอนลีลาการเต้น ชะ ชะ ช่า การเต้นของนายเออร์นี่ แม้จะผิดหลักมาตรฐานสากล แต่ก็ยังได้รับความนิยมเต้นมาจนถึงปัจจุบัน ถึงแม้ภายหลังจะได้นำเอารูปแบบการเต้นที่เป็นมาตรฐานสากลเข้ามาสอนแทนก็ตาม
เอกลักษณ์เฉพาะของจังหวะชะ ชะ ช่า ซึ่งกระจุ๋มกระจิ๋ม เบิกบาน การแสดงความรักใคร่การเคลื่อนไหว อยู่คงที่ คู่เต้นรำเคลื่อนที่ไปในทิศทางตรงกันข้าม และร่วมทิศทางเดียวกันห้องดนตรี 4/4ความเร็วต่อนาที 30 บาร์ สอดคล้องกับกฎของ IDSF การเน้นจังหวะ บนบีทที่ 1 ระยะเวลาที่ใช้ในการแข่งขัน 1 นาทีครึ่ง ถึง 2 นาที หลักพลศาสตร์ การเคลื่อนที่ตามเวลา ทันทีทันใด หนักหน่วงโดยตรง และ การเคลื่อนไหวที่เป็นอิสระ การเต้นชะ ชะ ช่า ไม่ใช้พื้นที่มากนักโดยทั่วไปจะเต้นเฉพาะบริเวณใดบริเวณหนึ่ง ยกเว้นในบางลวดลาย อาจใช้พื้นที่พอสมควร
การสื่อความหมายของจังหวะ ชะ ชะ ช่า สำคัญอยู่ที่ขา และเท้า โครงสร้างของการจัดท่าเต้นไม่ควรให้มีการเคลื่อนที่มากนัก และต้องมีความสมดุลที่ผู้ชมสามารถจะเข้าใจในรูปแบบและติดตามทิศทางได้ สิ่งที่ควรใส่ใจอย่างยิ่ง ควรมุ่งเน้นไปที่ “จังหวะเวลา”ของการเคลื่อนไหวในแต่ละท่าทาง
การนับจังหวะดนตรี สามารถนับได้หลายวิธี เป็น หนึ่ง – สอง – สามสี่ – ห้า หรือ หนึ่ง – สอง – ชา ชา ช่า หรือจะนับตามแบบคิวบันรัมบ้าคือนับ สอง – สาม – สี่ และหนึ่ง โดยก้าวแรกจะตรงกับจังหวะที่ 2 ของห้องเพลง
การก้าวเท้าในจังหวะชะ ชะ ช่า จะต้องให้ฝ่าเท้าสัมผัสพื้นก่อนแล้วจึงค่อยลงน้ำหนักทีหลัง การเต้นในจังหวะนี้ส่วนใหญ่จะใช้ปลายเท้ามากที่สุด การใช้ขาสองข้างต้องสัมพันธ์กัน เมื่อก้าวเท้าใดเข่านั้นจะงอเล็กน้อย เมื่อเท้าได้วางราบลงบนพื้นแล้วเข่าจะตึงและรับน้ำหนัก ส่วนเข่าอีกข้างหนึ่งจะงอเพื่อเตรียมก้าวเดินต่อไป และเมื่อวางเท้าลงเข่าก็จะตึง ทำอย่างนี้สลับกันเรื่อยไป ดังนั้นจะมีการสับเปลี่ยนการตึงและงอของช่วงขา พร้อมทั้งลดลงและยกขึ้น ของส้นเท้าสลับกันตามลำดับ การปฏิบัติในลักษณะนี้จะทำให้สะโพกบิดไปมาดูสวยงาม แต่อย่าให้เป็นในลักษณะ เจตนานัก เพราะจะทำให้ไม่เป็นธรรมชาติและเป็นภาพที่ไม่น่าดู สำหรับผู้ที่เริ่มต้นฝึกในระยะแรก ควรฝึกฝนการเต้นให้ถูกต้องตามจังหวะดนตรีก่อน เมื่อเกิดความชำนาญแล้วจึงค่อยฝึกการก้าวให้เกิดความสวยงามภายหลัง
การทำแชสเซ่ของชะ ชะ ช่า คือ กลุ่มสเต็ป 3 ก้าวในการเต้นจังหวะ ชะ ชะ ช่า จะมีการทำแชสเซ่ในทุกทิศทุกทางของการนับจังหวะ 3-4-5 การทำแชสเซ่จะเร็วกว่าจังหวะ 1 และ 2 คือประมาณ 3 ก้าว ต่อ 2 จังหวะ ในขณะที่ก้าวที่ 1 และ 2 จะก้าว 1 ก้าวต่อ 1 จังหวะ
การจับคู่ในจังหวะชะ ชะ ช่า เน้นการจับคู่แบบปิดในรูปแบบของลาตินอเมริกัน (มือขวาของชายแตะบริเวณสะบักของผู้หญิง แต่อาจจะมีการเปลี่ยนไปตามลวดลายการเต้น ซึ่งอาจจะจับด้วยมือเพียงข้างเดียวจับแบบสองมือ หรืออาจปล่อยมือทั้งสองออกจากคู่เลยก็ได้
ลวดลายการเต้นจังหวะ ชะ ชะ ช่า มีอยู่หลายแบบด้วยกัน แต่จะเสนอลวดลายการเต้นที่เป็นที่นิยมเต้นกันโดยทั่วไป คือ
1. เบสิค มูฟเม้นท์ ( Basic Movement)
2. นิวยอร์ค ( New York)
3. สปอท เทิร์น (Spot Turn)
4. แฟน (Fan)
5. อเลมานา (Alemana)
6. โชลเดอร์ ทู โชลเดอร์ (Shoulder To Should)
7. อันเดอร์ อาร์ม เทิร์น (Under Arm)
8. แฮนด์ ทู แฮนด์ (Hand To Hand)
9. ฮอกกี้ สติ๊ก (Hockey Stick)
10. ไทม์ สเต็ป (Time step)
5. จังหวะรุมบ้า
ประมาณกันว่า รุมบ้าถูกนำเข้ามาในอเมริกาโดยทาสชาวอัฟริกัน แต่เมื่อราว ค.ศ.1928/1929 การก้าวเท้าและรูปแบบการเต้นของจังหวะนี้ ยังไม่ชัดเจนทีเดียว คนส่วนมากทึกทักเอาการเต้นของจังหวะนี้เป็นการเต้นรูปแบบใหม่ ของจังหวะ ฟอกซ์ทรอท โดยเพิ่มการใช้สะโพกลงไป หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รุมบ้า ได้รับการพัฒนาต่อให้เป็น คิวบันรุมบ้า โดย (MONSIEUR PIERRE และDORIS LAVELL) นักเต้นรำชาวอังกฤษ ซึ่งมีโรงเรียนสอนเต้นรำอยู่ที่ ถนน REGENT ในนครลอนดอน แต่ก็ยังไม่ได้มาตรฐานเท่าที่ควร จนกระทั่ง WATER LAIRD เริ่มเขียนตำราเต้นรำของ ลาติน ขึ้นผลงานของเขาได้รับการยอมรับเป็นอย่างมากจากหลายองค์กรของการเต้นรำ และ นั่นเองการจัดมาตรฐานก็บรรลุถึงความเป็นจริง
เอกลักษณ์เฉพาะของจังหวะรุมบ้า ตรงที่ยั่วยวน กระตุ้นความรู้สึก ดูดดื่ม ยั่วเย้า และ การผละหนี อย่างมีจริตการเคลื่อนไหว คงที่ โล่งอิสระ การเลื่อนไหล การต่อเนื่องร่วมกับการเน้นจังหวะห้องดนตรี 4/4ความเร็วต่อนาที 27 บาร์ สอดคล้องกับกฎของIDSFการเน้นจังหวะ บนบีทที่ 4 ของแต่ละบาร์ระยะเวลาที่ใช้ในการแข่งขัน 1 นาทีครึ่ง ถึง 2 นาทีหลักพลศาสตร์ความหนักหน่วง เคลื่อนที่ตามเวลา การเดินที่มั่นคง และตรงทิศทาง
การสื่อความหมายของจังหวะรุมบ้า สำคัญอยู่ที่ลำตัว การเคลื่อนไหวของสะโพกเกิดขึ้นจากการควบคุมการโอนถ่ายน้ำหนักจากเท้าหนึ่งไปยังอีกเท้าหนึ่ง การก้าวเท้าแต่ละก้าวใช้เวลา 1/2 บีทของดนตรี ท่าทางของลำตัวเกิดขึ้นบนครึ่งที่สองของบีท ความใส่ใจที่สำคัญควรมุ่งใช้ไปที่ หลักพลศาสตร์ และจังหวะดนตรี เพื่อเพิ่มความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องกับความต้องการที่ตรงกันข้าม และความเย้ายวนอารมณ์ ลำตัวจะไม่มีการหยุดเพื่อการเปลี่ยนท่าทาง การเคลื่อนไหวของแขนจะเริ่มจาก จุดศูนย์กลางของลำตัว และนี่คือ ผลจากการเคลื่อนไหวของลำตัว ควรให้ความใส่ใจกับการแสดงความชัดเจน ของการใช้เท้า เท้าจะสัมผัสพื้นผิวของฟลอร์อย่างต่อเนื่อง และแผ่วเบา ฝ่ายชายจำเป็นที่จะต้องใช้ความรู้สึกที่ให้อารมณ์ในการนำ ด้วยมือ แขนและด้วยจิตใจ ข้อความที่ฝากไว้ตรงนี้คือ ปล่อยให้ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายแสดง
6. จังหวะบีกิน (Beguine)
เป็นจังหวะที่จัดอยู่ในประเภทเบ็ดเตล็ด เป็นจังหวะที่นิยมเต้นกันมากในงานสังคมทั่วๆ ไป หรือในงานลีลาศในประเทศไทย
ทั้งนี้เนื่องมาจากเป็นจังหวะที่เต้นง่ายสวยงาม การก้าวเท้าไม่ลำบากความเร็วของจังหวะอยู่ในระดับปานกลาง ถึงแม้ว่าในต่างประเทศจะไม่นิยมเต้นจังหวะนี้ และไม่มีการจัดแข่งขันในระดับสากล
ดนตรีของจังหวะบีกิน จะเป็น 4/4 มี 3 บีทต่อ 1 ห้องเพลง จังหวะการนับจะเป็น 1 2 3 พัก
1 2 3 พัก (พักหมายถึง พักเข่าหรืองอเข่า) ต่อเนื่องกันไป
ความเร็วช้าของจังหวะจังหวะบีกิน บรรเลงด้วยความเร็วประมาณ 28 - 32 ห้องเพลงต่อนาที
การจับคู่ เป็นแบบปิดเหมือนกับการจับคู่ในประเภทลาติน อเมริกัน โดยทั่วไปเพื่อไม่ให้เหยียบเท้ากันในการฝึกใหม่ๆ อาจจะให้จับคู่แบบสองมือก่อน เมื่อชำนาญแล้วจึงจับคู่แบบปิด
การก้าวเท้าในจังหวะบีกิน ก็เหมือนกับการก้าวเท้าในประเภทลาตินอเมริกัน กล่าวคือ จะต้องให้ฝ่าเท้าถึงพื้นก่อน แล้วจึงราบลงเต็มเท้า ไม่ว่าการเดินไปข้างหน้าหรือถอยหลัง การก้าวเท้าทุกครั้งจะต้องลงน้ำหนักตัวในขณะที่วางเท้าราบกับพื้น ซึ่งการลงน้ำหนักตัวนี้จะทำให้สะโพกบิดไปมาอย่างเป็นธรรมชาติดูสวยงาม ส่วนของลำตัวตั้งแต่เอวถึงศรีษะจะตรงและนิ่ง ไม่แกว่งหรือส่ายไหล่ไปมา เพราะจะทำการลีลาศดูไม่สวยงาม
ลวดลายการเต้นของจังหวะบีกิน ที่นิยมเต้นกันทั่วไปได้แก่
1. เบสิค วอล์ค ( Basic Walk )
2. ครอสซิ่ง สเต็ป ( Crossing Step )
3. อันเดอร์ อาร์ม เทิร์น ( Under Arm Turn )
4. แฮนด์ ทู แฮนด์ ( Hand to Hand )
5. เอ๊าไซด์ สเต็ป ( Outside Step )
6. วาโซเวียน เทิร์น ( Varsouvienne Turn )
7. จังหวะวอลซ์
เป็นการเต้นรำชนิดหนึ่งซึ่งชาวเยอรมันนีเป็นผู้ให้กำเนิด ได้เข้ามาครั้งแรกในแคว้น สวาเบียก และเริ่มแพร่หลายในแคว้นใกล้เคียงและไปทั่วทวีปยุโรป และยังไม่เคยเสื่อมความนิยมในหมู่นักลีลาศนับตั้งแต่ โจฮัน สเตราส์ แต่งเพลงในจังหวะวอลซ์ไว้อย่างไพเราะจับใจ
ช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1910 – 1914 ฝูงชนได้หลั่งไหลไปที่บอสตันคลับ ในโรงแรมซาวอย ที่ตั้งอยู่ ณ กลางกรุงลอนดอน เพื่อเต้นรำจังหวะ “บอสตัน วอลซ์” ซึ่งเป็นต้นแบบของวอลซ์ ที่ใช้ในการแข่งขันปัจจุบัน
ในปี ค.ศ. 1914 จังหวะบอสตันได้เสื่อมสลายลง เบสิคพื้นฐานได้ถูกเปลี่ยนไปในทิศทางของ “วอลซ์” หลังสงครามโลกครั้งที่1 จังหวะวอลซ์ ได้เริ่มถูกพัฒนาให้ถูกทางขึ้นด้วยท่าแม่แบบ อย่างเช่น THE NATURAL และ REVERSE TURN และ THE CLOSED CHANGE ความก้าวหน้าในการพัฒนา จังหวะ “วอลซ์” เป็นไปอย่างยืดยาด และเชื่องช้า ผู้ที่ได้ทุ่มเทกับการพัฒนาจังหวะนี้เป็นพิเศษ ต้องยกให้ มิส โจส์เซฟฟิน แบรดลีย์ (JOSEPHINE BRADLY) วิคเตอร์ ซิลเวสเตอร์ (VICTOR SILVESTER) และแม็กซ์เวลล์ สจ๊วตค์ (MAXWELL STEWARD) และแพ็ทไซด์ (PAT SYKES) แชมป์เปี้ยนคนแรกของชาวอังกฤษ สถาบันที่ได้สร้างผลงานต่อการพัฒนาแม่แบบต่างๆ ให้มีความเป็นมาตรฐานคือ “IMPERIAL SOCIETY OF TEACHERS” (ISTD) ท่าแม่แบบเหล่านี้ บรรดานักแข่งขันยังคงใช้กันอยู่ถึงปัจจุบัน
จังหวะวอลซ์ เป็นจังหวะที่จัดอยู่ในประเภท บอลรูม เป็นจังหวะที่นิยมเต้นกันมากเพราะลักษณะการเคลื่อนไหวของจังหวะวอลซ์ เต็มไปด้วยความสวยงาม สง่างาม และนิ่มนวล ลวดลายของวอลซ์ ง่ายต่อการเริ่มเรียนและฝึกฝนทั้งยังสามารถปรับการเต้นให้เข้ากับขนาดของฟลอร์ และจำนวนคู่ลีลาศได้ง่ายด้วยการปรับระยะก้าว
ลักษณะท่าทางอย่างหนึ่งที่ต้องมีให้เห็นจากนักแข่งขัน ไม่ว่าจะระดับไหน คือ ลักษณะการแกว่งไกวของลูกตุ้มนาฬิกา เปรียบเทียบได้กับการแกว่งของลูกตุ้มระฆัง จังหวะวอลซ์ต้องมีการสวิงขึ้น และลงที่มีความสมดุล ในระดับที่ถูกต้อง ด้วยการเคลื่อนไหวที่โล่งอิสระ โครงสร้างของท่าเต้นต้องเป็นแบบที่มีการสวิงโยกย้าย นุ่มนวล เคลื่อนเป็นวง ซึ่งบังเกิดผลให้นักเต้นรำ เคลื่อนที่ไปอย่างเป็นธรรมชาติ และโล่งอิสระร่วมกับการเปลี่ยนแปลงแรงโน้มถ่วง โดยปกติแล้ววอลซ์ ควรประกอบด้วยลวดลายที่สามารถแสดงให้เห็นถึงการควบคุม (CONTROL) ที่ยอดเยี่ยม และเปี่ยมไปด้วยความมั่นใจ ในหลาย ๆ กฎเกณฑ์ ดนตรีจะมีความโรแมนติค ชวนฝัน ละเอียดอ่อน และ เปรียบเสมือนกับสตรีเพศ ซึ่งนี้คือ ข้อที่พึงระมัดระวังถึงของคู่แข่งขันจำนวนมาก เขาต้องปลดปล่อยให้ความรู้สึกไวต่อการรับรู้ถึงจังหวะและอัตราความเร็วของดนตรีและการเตรียมพร้อมที่จะเต้นให้แผ่วเบา อย่างมีขอบเขตและอิสระเหมือนกับทุก ๆ จังหวะ การเต้นจากเท้าส่ง (SUPPORTING FOOT) จะขาดเสียไม่ได้เลย สำหรับ วอลซ์ แล้ว “ชั่วขณะที่” เมื่อเริ่มยืดขึ้น (RISING) จากน้ำหนักเท้าส่งนั้นมีความสำคัญยิ่งการลดลงพื้น (LANDING) ขณะที่หน่วงลง (LOWERING)บนเท้าที่รับน้ำหนัก (SUPPORTING FOOT) ตามความต้องการในแบบฉบับของ วอลซ์ต้องเกร็งยืด (TENSION) และควบคุม (CONTROL)
ดนตรีและการจับจังหวะ เป็นแบบ 3/4 คือมี 3 จังหวะใน 1 ห้องเพลง ซึ่งจะได้ยินเสียงเคาะจังหวะ พั่ม แท๊ก แท๊ก ต่อเนื่องกันตลอดเพลงและมีความ เร็ว-ช้า เท่ากันตลอดเพลง ในการฟังจังหวะให้สังเกต เสียงเบส และเสียงกลอง คือ เสียงพั่มจะตรงกับเสียงเบส และเสียงแท๊ก-แท๊กจะตรงกับเสียงกลอง ในการฝึกหัดเต้นอาจจะใช้การนับ หนึ่ง-สอง-สาม หรือ นับตามจำนวนก้าวของแต่ละสเต็ปก็ได้
ดนตรีของจังหวะวอลซ์ บรรเลงด้วยความเร็ว 31 ห้องเพลงต่อ 1 นาที
การจับคู่ จะจับคู่แบบบอลรูมปิด แต่ในบางลวดลายอาจจะจับคู่แบบพรอมมิหนาด
ในการฝึกหัดการเต้นจังหวะวอลซ์นั้น ผู้เต้นควรหัดการเต้นลวดลายพื้นฐานเป็นอันดับแรก เพื่อให้เกิดความคุ้นเคยกับจังหวะของเพลงและฝึกการใช้ส้นเท้าปลายเท้า ในการฝึกระยะแรกควรฝึกฝนการเต้นแบบสแควร์ก่อน คือ การเต้นแนชเชอรัล สแควร์ และรีเวิร์ส สแควร์
จากที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่าในการเต้นรำจังหวะวอลซ์นั้น ความสวยงามอยู่ที่การยกตัวขึ้นและลงตามจังหวะเพลงทำให้ดูพลิ้วลอยไปบนฟลอร์ การยกตัวขึ้นและลดตัวลงสามารถทำได้ดังนี้
ก้าวที่ 1 ตรงกับจังหวะพั่ม ให้ก้าวเท้าไปข้างหน้ายาวๆ โดยการลงส้นเท้าก่อนแล้วจึงราบเท้าลงเต็มเท้า ( Fall )
ก้าวที่ 2 ตรงกับจังหวะแท๊ก แยกเท้าอีกข้างหนึ่งออกไปทางข้างๆ ให้เท้าทั้งสองเสมอกันพร้อมกับเขย่งเท้าขึ้น ( Rise )
ก้าวที่ 3 ตรงกับจังหวะ แท๊ก ลากเท้าอีกข้างหนึ่งมาชิดเท้าแรกพร้อมกับเขย่งเท้า ( Rise ) ทั้งสองให้สูงที่สุด ให้น้ำหนักอยู่ที่ปลายเท้าส้นเท้าเปิด จากนั้นลดเท้าทั้งสองลง ( Fall ) เมื่อหมดจังหวะที่ 3
ลวดลายการเต้นรำจังหวะวอลซ์ที่นิยมเต้นกันโดยทั่วไป ซึ่งถือได้ว่าเป็นขั้นมูลฐาน คือ
1. โคลส เชนจ์ ( Closed Change )
2. แนชเชอรัล เทิร์น ( Natural Turn )
3. รีเวิร์ส เทิร์น ( Reverse Turn )
4. แนชเชอรัล สปิน เทิร์น ( Natural Spin Turn )
5. วิสค์ ( Whisk )
6. ซินโคเป็ต แชสเซ่ ( Syncopated Chasse )
7. แบค วิสค์ ( Back Whisk )
8. วิงค์ ( Wing )
9. เอ๊าไซด์ เชนจ์ ( Outside Change )
มารยาททางสังคมในการเล่นกีฬาลีลาศ
4.1 การเตรียมตัว
1. อาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด กำจัดกลิ่นต่าง ๆ ที่น่ารังเกียจ เช่น กลิ่นปาก กลิ่นตัว เป็นต้น
2. แต่งกายให้สะอาด ถูกต้อง และเหมาะสมตามกาละเทศะ ซึ่งจะเป็นหารสร้างความมั่นใจในบุคลิกภาพของตนเอง
3. ควรใช้เครื่องสำอางที่มีกลิ่นไม่รุนแรงจนสร้างความรำคาญให้กับผู้ที่อยู่ใกล้ชิด หรือกับคู่ลีลาศของตน
4. มีการเตรียมตัวล่วงหน้าโดยการฝึกซ้อมลีลาศในจังหวะต่าง ๆ เพื่อสร้างความมั่นใจในการลีลาศ
5. สุภาพบุรุษจะต้องให้เกียรติสุภาพสตรีและบุคคลอื่นในทุกสถานการณ์ และจะต้องไปรับสุภาพสตรีที่ตนเชิญไปร่วมงาน
6. ไปถึงบริเวณงานให้ตรงตามเวลาที่ระบุได้ในบัตรเชิญ
4.2 ก่อนออกลีลาศ
1. พยายามทำตัวให้เป็นกันเอง และสร้างความสนิทสนมคุ้นเคยกับเพื่อนใหม่ แนะนำเพื่อนหญิงของตนให้บุคคลอื่นรู้จัก (ถ้ามี)
2. ไม่ดื่มสุรามากจนครองสติไม่อยู่ ถ้ารู้สึกตัวว่าเมามาก ไม่ควรเชิญสุภาพสตรีออกลีลาศ
3. ไม่ควรเชิญสุภาพสตรีที่ไม่รู้จักออกลีลาศ ยกเว้นจะได้รับการแนะนำให้รู้จักกันเสียก่อน
4. สุภาพบุรุษควรแน่ใจว่าสุภาพสตรีที่ตนเชิญออกลีลาศ สามารถลีลาศจังหวะนั้นๆ ได้หากไม่แน่ใจควรสอบถามก่อน
5. สุภาพบุรุษควรเชิญสุภาพสตรีออกลีลาศด้วยกริยาที่สุภาพ ถ้าถูกปฏิเสธก็ไม่ควรเซ้าซี้จนเป็นที่น่ารำคาญ
6. สุภาพสตรี ไม่ควรปฏิเสธเมื่อมีสุภาพบุรุษมาขอลีลาศด้วย หากจำเป็นจะต้องปฏิเสธด้วยเหตุผลใดก็ตาม จะต้องปฏิเสธด้วยถ้อยคำที่สุภาพนุ่มนวล และไม่ควรลีลาศกับสุภาพบุรุษอื่นในจังหวะที่ตนได้ปฏิเสธไปแล้ว
7. ถ้าในกลุ่มสุภาพสตรีที่นั่งอยู่มีบุคคลอื่นหรือสุภาพบุรุษอื่นนั่งอยู่ด้วย จะต้องกล่าวคำขออนุญาตจากบุคคลเหล่านั้นก่อนที่จะเชิญสุภาพสตรีออกลีลาศ
8. ก่อนออกลีลาศควรฟังจังหวะให้ออกเสียก่อน และแน่ใจว่าสามารถลีลาศในจังหวะนั้นได้
9. ไม่ควรออกลีลาศกับคู่เพศเดียวกัน
4.3 ขณะลีลาศ
1. ขณะที่พาสุภาพตรีไปที่ฟลอร์ลีลาศ สุภาพบุรุษควรเดินนำหน้า หรือเดินเคียงคู่กันไป เพื่อให้ความสะดวกแก่สุภาพสตรี และเมื่อไปถึงฟลอร์ลีลาศ ควรให้เกียรติสุภาพสตรีเดินขึ้นไปบนฟลอร์ลีลาศก่อน
2. ในการจับคู่ สุภาพบุรุษต้องกระทำด้วยความนุ่มนวลสุภาพ และถูกต้องตามแบบแผนของการลีลาศ ไม่ควรจับคู่ในลักษณะที่รัดแน่นหรือยืนห่างจนเกินไป การแสดงออกที่น่าเกลียดบางอย่างพึงละเว้น เช่น การเอารัดเอาเปรียบคู่ลีลาศ เป็นต้น
3. จะต้องลีลาศไปตามจังหวะ แบบแผน และทิศทางที่ถูกต้องไม่ย้อนแนวลีลาศ เพราะจะเป็นอุปสรรคกีดขวางการลีลาศของคู่อื่น ถ้ามีการชนกันเกิดขึ้นในขณะลีลาศ จะต้องกล่าวคำขอโทษหรือขออภัยด้วยทุกครั้ง
4. ไม่สูบบุหรี่ เคี้ยวหมากฝรั่ง หรือของขบเคี้ยวใด ๆ ในขณะลีลาศ
5. ให้ความสนใจกับคู่ลีลาศของตน ความอบอุ่นเกิดขึ้นได้จากการยิ้มแย้มแจ่มใสหรือคำกล่าวชม ไม่แสดงอาการเบื่อหน่ายหรือหันไปสนใจคู่ลีลาศของคนอื่น และอย่าทำตนเป็นผู้กว้างขวางช่างพูดช่างคุยกับคนทั่วไปในขณะลีลาศ
6. ควรลีลาศด้วยความสนุกสนานร่าเริง
7. ไม่ควรพูดเรื่องปมด้อยของตนเองหรือของคู่ลีลาศ
8. ไม่ควรเปลี่ยนคู่บนฟลอร์ลีลาศ
9. ควรลีลาศในรูปแบบหรือลวดลายที่ง่าย ๆ ก่อน แล้วจึงเพิ่มรูปแบบหรือลวดลายที่ยากขึ้นตามความสามารถของคู่ลีลาศ เพราะจะทำให้คู่ลีลาศรู้สึกเบื่อหน่าย และไม่ควรพลิกแพลงรูปแบบการลีลาศมากเกินไปจนมองดูน่าเกลียด
10. ถือว่าเป็นการไม่สมควรที่จะร้องเพลงหรือแสดงออกอย่างอื่นในขณะลีลาศ หรือลีลาศด้วยท่าทางแผลง ๆ ด้วยความคึกคะนอง
11. ไม่ควรสอนลวดลายหรือจังหวะใหม่ ๆ บนฟลอร์ลีลาศ
12. ไม่ควรลีลาศด้วยลวดลายที่ใช้เนื้อที่มากเกินไป ในขณะที่มีคนอยู่บนฟลอร์เป็นจำนวนมาก
13. ในการลีลาศแบบสุภาพชน ไม่ควรแสดงความรักในขณะลีลาศ
14. การนำในการลีลาศเป็นหน้าที่ของสุภาพบุรุษ สุภาพสตรีไม่ควรเป็นฝ่ายนำ ยกเว้นเป็นการช่วยในความผิดพลาดของสุภาพบุรุษ เป็นครั้งคราวเท่านั้น
15. การให้กำลังใจ การให้เกียรติ และการยกย่องชมเชยด้วยใจจริง จะช่วยให้คู่ลีลาศเกิดความรู้สึกอบอุ่นและเชื่อมั่นในตนเองยิ่งขึ้น คู่ลีลาศที่ดี จะต้องช่วยปกปิดความลับหรือปัญหาที่เกิดขึ้นและมองข้ามจุดอ่อนของคู่ลีลาศ
16. ไม่ควรผละออกจากคู่ลีลาศโดยกระทันหัน หรือก่อนเพลงจบ
4.4 เมื่อสิ้นสุดการลีลาศ
1. สุภาพบุรุษต้องเดินนำหรือเดินเคียงคู่กันลงจากฟลอร์ลีลาศ และนำสุภาพสตรีไปส่งยังที่นั่งให้เรียบร้อย พร้อมทั้งกล่าวคำขอบคุณสุภาพสตรีและสุภาพบุรุษอื่นที่นั่งอยู่ด้วย
2. เมื่อถึงเวลากลับ ควรกล่าวคำชมเชย และขอบคุณเจ้าภาพ (ถ้ามี)
3. สุภาพบุรุษจะต้องพาสุภาพสตรีที่ตนเชิญเข้างาน ไปส่งยังที่พัก
4.5 สรุปมารยาทโดยรวมในการลีลาศ
1. ควรแต่งกายให้สุภาพเรียบร้อยหรือเหมาะสมกับงานที่จัดขึ้น โดยเฉพาะรองเท้าควรเป็น รองเท้าลีลาศหรือที่เหมาะสมกับการลีลาศ
2. ควรสำรวมกิริยามารยาท โดยคำนึงถึงขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงามไว้เสมอ
3. ไม่ควรออกลีลาศในขณะที่เสพสุรามากเกินไป หรือมีอาการมึนเมา
4. การเข้าคู่ลีลาศ หรือ “Holding” ควรกระทำให้ถูกต้อง โดยเฉพาะในงานลีลาศออกสังคมควรคำนึงถึงวัฒนธรรมและประเพณีอันดีงาม
5. การลีลาศในงานสังคมไม่ควรพาคู่เต้นออกลวดลายเกินความจำเป็น และควรคำนึงถึงความสามารถของคู่เต้นด้วยว่าจะทำตามได้หรือไม่
6. ควรระมัดระวังการกระทบกระทั่งกัน หากมีเหตุสุดวิสัยควรกล่าวคำขอโทษซึ่งกันและกัน และควรที่จะให้อภัยต่อกัน
7. ระหว่างงานลีลาศ ควรแสดงออกถึงความสุขสนุกสนานและรื่นเริง และพูดคุยกันในสิ่งที่ดีงามและเป็นมงคล
8. ในการลีลาศควรเคลื่อนที่ไปในทิศทางที่เหมาะสม ซึ่งมีระบุไว้ในกฎกติกา ของการลีลาศในแต่ละจังหวะ โดยปกติแล้วจะเคลื่อนที่ไปในลักษณะทวนเข็มนาฬิกาตามแนวทางของการลีลาศ
9. สุภาพบุรุษควรเดินเคียงคู่กับสุภาพสตรีออกไปลีลาศและนำส่งกลับโต๊ะที่นั่งหลังเสร็จสิ้นการลีลาศ
10. ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะนำผู้ที่ยังลีลาศไม่เป็นลงไปสอนกลางฟลอร์ลีลาศ เพราะจะก่อความรำคาญให้คู่ลีลาศอื่นๆ
11. สุภาพบุรุษกุบสุภาพบุรุษไม่ควรออกไปลีลาศคู่กันเพราะดูไม่สุภาพ
12. ถ้าจะลีลาศกับผู้ที่มากับคนอื่น ควรจะขออนุญาตกับผู้ที่มาด้วยก่อนเสมอ
13. ถ้าได้ปฏิเสธการขอลีลาศจากผู้ใดผู้หนึ่งไปแล้ว ไม่ควรจะออกลีลาศกับบุคคลอื่นในทันทีทันใด
14. หลังเสร็จสิ้นการลีลาศในแต่ละครั้ง ควรกล่าวคำขอบคุณซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะลีลาศกับผู้ที่อาวุโสกว่าควรยกมือขึ้นไหว้ขอบคุณ แล้วพากลับเข้านั่งที่
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น