สุขบัญญัติ 10 ประการ
คือ ข้อกำหนดที่เด็ก และเยาวชน รวมทั้งประชาชนทั่วไป ควรปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอจนเป็นนิสัย เพราะผู้ที่ปฏิบัติตาม สุขบัญญัติ 10 ประการ จะเป็นคนมีสุขภาพดี ทั้งร่างกาย จิตใจ และสังคม ซึ่งจะส่งผลให้มีสุขภาพแข็งแรง มีสมรรถภาพในการเรียน การทำงาน และ สุขบัญญัติ 10 ประการ ยังช่วยให้มีภูมิต้านทานโรค ไม่เจ็บป่วยง่าย ๆ ด้วย โดย สุขบัญญัติ 10 ประการ หรือ สุขบัญญัติแห่งชาตินี้ รัฐบาลได้ประกาศให้ดำเนินการและเผยแพร่ในวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ.2539 ดังนั้นจึงได้กำหนดให้ทุกวันที่ 28 พฤษภาคม เป็น "วันสุขบัญญัติแห่งชาติ" อีกด้วย
1. การดูแลรักษาร่างกายและของใช้ให้สะอาด
- อาบน้ำทุกวันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ใช้สบู่ฟอกทุกส่วนของร่างกายให้ทั่วและมีการขัดถูขี้ไคลตามบริเวณต่างๆ และเช็ดตัวให้แห้งด้วยผ้าที่สะอาด
- สระผมอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ใช้สบู่หรือแชมพูสระผมจนสะอาด แล้วเช็ดให้แห้งด้วยผ้าที่สะอาด และหมั่นหวีผมให้เรียบร้อย
- รักษาอนามัยของดวงตา อ่านหรือเขียนหนังสือระยะห่างประมาณ 1 ฟุต โดยมีแสงเพียงพอ, ดูโทรทัศน์ในระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตรครึ่ง รับประทานอาหารที่มีส่วนช่วยบำรุงสายตา เช่น ฟักทอง ผักบุ้ง, ใส่แว่นกันแดดถ้าจะเป็นต้องมองในที่ที่มีแสงสว่างมากเกินไป และ ตรวจสายตาอย่างน้อย ปีละ 1 ครั้ง
- รักษาอนามัยของหู เช็ด ใบหูและรูหูเท่าที่นิ้วจะเข้าไปได้ ระวังไม่ให้น้ำเข้าหู ไม่ควรสั่งน้ำมูกแรงๆ หลีเลี่ยงการถูกกระทบกระแทกหูโดยแรง และหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีแสงดังมากๆ
- รักษาอนามัยของจมูก ไม่ถอนขนจมูก ไม่นำสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในจมูก การไปหรือจาม หรือการสั่งน้ำมูกจะต้องใช้ผ้าหรือกระดาษเช็ดหน้าที่สะอาด
- ตัดเล็บมือเล็บเท้าให้สั้นอยู่เสมอ การปล่อยเล็บยาวจะเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคตามซอกเล็บและเมื่อรับประทานอาหารก็จะติดไปกับอาหารทำให้เกิดโรคอุจจาระร่วง ก่อนและหลังการรับประทานอาหารและหลังการใช้ส้วมจะต้องล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ และสวมรองเท้าทุกครั้งเมื่อออกจากบ้าน
- ถ่ายอุจจาระเป็นเวลาทุกวัน ควรฝึกให้เป็นเวลาทุกวันในตอนเช้าอย่าให้ท้องผูกบ่อยๆ เพราะจะทำให้เกิดโรคริดสีดวงทวาร และเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้
- ใส่เสื้อผ้าที่สะอาดไม่อับชื้นและให้ความอบอุ่นเพียงพอ เสื้อผ้าที่ใช้แล้วทั้งชั้นนอกและชั้นในจะต้องมีการทำความสะอาดด้วยสบู่ หรือผงซักฟอกทุกครั้ง แล้วนำไปผึ่งหรือตากแดดให้แห้ง ไม่ใส่เสื้อผ้าซ้ำๆหรือซักไม่สะอาด อับชื้น เพราะจะทำให้เกิดโรคผิวหนังได้
2. รักษาฟันให้แข็งแรงและแปรงฟันทุกวันอย่างถูกต้อง
- แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เช้าและก่อนนอน แปรงสีฟันที่ใช้ควรมีขนแปรงที่อ่อนนุ่ม ปลายขนแปรงมน เพื่อป้องกันไม่ให้ฟันสึก และเหงือกเป็นแผล และอย่าลืมแปรงลิ้นด้วย
- เลือกใช้ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของฟันและป้องกันฟันผุได้ ไม่จำเป็นต้องใช้ยาสีฟันมากๆ เพียงแตะบนขนแปรงพอชื้นก็พอแล้ว
- หลีกเลี่ยงการกินลูกอม ทอฟฟี่ หรือขนมขบเคี้ยว หวานเหนียว เพราะมีส่วนผสมของน้ำตาลเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งติดฟันง่ายยากต่อการทำความสะอาด ควรเลือกทานผลไม้ตามฤดูกาล
- ตรวจสุขภาพในช่องปากอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ควรไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพในช่องปากอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
- ห้ามใช้ฟันกัด ขบ อาหารที่เป็นของแข็ง จะทำให้ฟันแตก บิ่น หรือเก รวมทั้งจะทำให้กล้ามเนื้อที่ยึดขากรรไกรอักเสบได้
3. ล้างมือให้สะอาดก่อนกินอาหารและหลังการขับถ่าย
การล้างมือให้ถูกวิธี ทำให้มือเปียกน้ำ ฟอกสบู่ ถูให้ทั่วทั้งฝ่ามือด้านหน้าและหลังมือ ถูตามง่ามมือและซอกเ็ล็บให้ทั่ว เพื่อให้สิ่งสกปรกหลุดออกไปพร้อมทั้งถูข้อมือ ล้างน้ำให้สะอาด แล้วเช็ดให้แห้งด้วยผ้าที่สะอาด เป็นการป้องกันการแพร่เชื้อและติดเชื้อโรคไ้ด้
4. กินอาหารสุก สะอาด ปราศจากสารอันตรายและหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด สีฉูดฉาด
- เลือกซื้ออาหารสด สะอาด ปลอดสารพิษ โดยคำนึงถึงหลัก 3 ป. คือ ประโยชน์ ประหยัด ปลอดภัย
- ปรุงอาหารที่ถูกสุขลักษณะ และใช้เครื่องปรุงรสที่ได้มาตรฐาน คำนึงถึงหลัง 3 ส. คือ สงวนคุณค่า สุกเสมอ สะอาดปลอดภัย
- กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
- กินอาหารปรุงสุกใหม่ๆ และใช้ช้อนกลางในการกินอาหารร่วมกัน
- หลีกเลี่ยงอาหารสุกๆ ดิบๆ อาหารรสจัก อาหารใส่สีฉูดฉาด
- ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว
5. งดสูบบุหรี่ สุรา ยาเสพย์ติด การพนัน และการมั่วสุมทางเพศ
6. สร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวให้อบอุ่น
ทุกคนในครอบครัวช่วยกันทำงานบ้านมีการปรึกษาหารือ และแสดงความคิดเห็นร่วมกัน มีน้ำใจและได้ทำกิจกรรมสนุกสนานร่วมกัน
7. ป้องกันอุบัติภัยด้วยความไม่ประมาท
ดูแลตรวจสอบ ระมัดระวังอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ของมีคม หรือไม้ขีดไฟ รวมถึงระมัดระวังเพื่อป้องกันอุบัติภัยในที่สาธารณะ เช่น การใช้รถใช้ถนน เป็นต้น
8. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และตรวจสุขภาพประจำปี
ออกกำลังกายให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายและวัย อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 20-30 นาที และตรวจสุขภาพประจำปีอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
9. ทำจิตใจให้ร่าเริงแจ่มใสอยู่เสมอ
พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ จัดสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมน่าอยู่น่าอาศัย มองโลกในแง่ดี ให้อภัยและยอมรับข้อบกพร่องของคนอื่น เมื่อมีปัญหาไม่สบายใจควรหาทางผ่อนคลายในทางที่ถูกต้องเหมาะสม
10. มีสำนึกต่อส่วนรวม ร่วมสร้างสรรค์สังคม
ทิ้งขยะในที่รองรับ หลีกเลี่ยงการใช้วัสดุอุปกรณ์ที่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม เช่น โฟม ถุงพลาสติก มีการใช้ส้วมที่ถูกสุขลักษณะ ใช้ทรัพยากรอย่างประหยัด และช่วยอนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น